สำหรับเด็กยุค 80S ไม่มีใครไม่รู้จัก Famicom ชื่อเครื่องเกมคอนโซลของปู่นิน ที่วางขายครั้งแรกในปี 1983 ในประเทศญี่ปุ่น และมันเป็นตำนานที่ประสบความสำเร็จมหาศาลทั่วโลก แต่ใครจะเชื่อว่าความจริงในตอนแรกมันไม่ได้เรียกว่า Famicom ตามที่คนรู้จักกัน เพราะชื่อนี้ถูกจดทะเบียนโดยบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Sharp มาก่อนแล้วหลายปี

ก่อนจะเข้าเรื่องสำหรับคนที่เกิดไม่ทันเล่น Famicom คือคอนโซลต่อทีวีและใช้สื่อเป็นตลับเกมรุ่นแรกของ Ninendo ที่วางขายในปี 1983 ในประเทศญี่ปุ่นก่อนจะไปขายในอเมริกาในชื่อ NES หรือชื่อเต็มว่า Nintendo Entertainment System ที่หน้าตาไม่หมือน Famicom วางขายในปี 1985 และมันก็ขายดีชนิดถล่มทลายมากกว่าในญี่ปุ่นเสียอีก

วกกลับมาที่ปัญหาของชื่อ ความจริงหากคุณยังมีเครื่องเกมและไปหยิบมาดู จะพบว่าชื่อเครื่องเกมมันเขียนว่า Family Computer ไม่ใช่ Famicom ตามที่เรารู้จักกันดี แล้วทำไมปู่นินถึงไม่ใช้ชื่อที่คนไทยและญี่ปุ่นรู้จักกันดี ปัญหามันไม่ใช่ไม่อยากใช้แต่ชื่อ Famicom มีคนจดทะเบียนไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่มันไม่ใช่เครื่องเกมแต่เป็นเตาอบแทน

ใช่แล้วฟังไม่ผิดมีเตาชื่อ Famicon วางขายในญี่ปุ่นมาก่อนที่ปู่นินจะสร้างคอนโซล แถมเป็นเตาอบ

ในปี 1979 บริษัท Sharp เปิดตัวเตาอบในชื่อ Family Convection Oven ที่มีชื่อย่อว่า Famicon วางขายทำให้ปู่นินไม่สามารถใช้ชื่อนี้ได้ แม้ว่าตัวสะกดในภาษาอังกฤษจะลงท้ายด้วยตัว N ไม่ใช่ตัว M แบบ Famicom ของปู่นิน แต่ในภาษาญี่ปุ่นจะเขียนว่า ファミコン เหมือนกัน ทำให้ Nintendo ไม่สามารถจดทะเบียนในชื่อที่ต้องการได้ เพราะหลักกฎหมายของญี่ปุ่นจะนับชื่อที่เขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นเป็นส่วนสำคัญ

นอกจากนี้แม้ว่ามันจะถูกเอาไปใช้กับเตาอบที่ไม่เกี่ยวกับเครื่องเกม แต่ในข้อความการจดทะเบียนชื่อ Sharp ได้ระบุเพิ่มว่ามันคือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ครอบคลุมถึงเครื่องเกมคอนโซลด้วย ซึ่งคาดว่าในตอนแรก Sharp อาจจะเอาชื่อ Famicon ไปใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ของค่ายด้วย

แม้ว่า Nintendo จะไม่สามารถจดทะเบียนเครื่องเกมในชื่อ Famicom ได้ แต่ชาวญี่ปุ่นก็พร้อมใจกันเรียกคอนโซลรุ่นแรกว่า Famicom อยู่ดีเพราะว่าวัฒนธรรมทางภาษาของคนญี่ปุ่นมักจะเรียกชื่อของภาษาอังกฤษในแบบย่อ ๆ ที่เข้าใจและเรียกได้ง่ายกว่า ทำให้ชื่อของ Family Computer ถูกย่อเป็น Famicom และเรียกกันเป็นปรกติทั่วไปชนิดเดินไปร้านเกมบอกคนขายก็รู้ เพียงแต่มันไม่ใช่ชื่ออย่างเป็นทางการก็เท่านั้น

หลายคนอาจจะคิดว่า Nintendo คงจะเตรียมฟ้องร้องเพราะเป็นค่ายใหญ่ แต่ความจริงแล้วหากมองย้อนไปในต้นยุค 80S ปู่นินไม่ได้เป็นยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่น ทำให้ข้อพิพาทระหว่าง 2 ค่ายจบลงอย่างประนีประนอม เพราะตามกฎหมายแล้วชื่อ Famicom ถูกจดทะเบียนไปเป็นที่เรียบร้อยแม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับวงการเกม แต่สำหรับภาษากฎหมายแล้วไม่สามารถจดทะเบียนซ้ำได้

แล้วทำไมหลังจากนั้นชื่อของ Famicom ถึงมาอยู่บนเกมของปู่นินได้ เพราะว่า Nintendo ได้ประกาศความร่วมมือกับ Sharp เพื่อสร้างเกมคอนโซลเสียเลยทำให้เกิดเป็น Twin Famicom เครื่องเกมที่มีทั้งช่องใส่ตลับเกมและแผ่นดิสก์ ที่สร้างโดย Sharp และยังมีการผลิตทีวีที่มีช่องใส่ตลับเกมวางขายด้วย เรียกว่าไม่ต้องขึ้นศาลแถมได้พาร์ตเนอร์มาช่วยเพิ่มด้วย และในปี 1985 สิทธิ์การใช้ชื่อ Famicom ถูกโอนมาให้ Nintendo

แม้ว่าปู่นินจะได้ชื่อมาใช้และไม่มีปัญหากับบริษัท Sharp แล้วแต่คอนโซลของปู่นินยังคงใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า Family Computer อยู่ไม่มีการเปลี่ยนแต่ชาวญี่ปุ่นและคนไทยเองก็พร้อมใจกันเรียกว่า Famicom เพราะมันเรียกง่ายและสั้นกว่า และต่อมาปู่นินก็สามารถจดทะเบียนชื่อ Super Famicom ได้โดยไม่มีใครมาฟ้องร้อง

และหลายปีต่อมามีการสร้างเกม Famicom Mini Series บน Gameboy Advance และ Famicom Remix วางขายบน WiiU และ 3DS ถือเป็นครั้งแรกที่ปู่นินใช้ชื่อ Famicom บนเกมอย่างเป็นทางการกับซอฟต์แวร์เกม อย่างไรก็ตามเครื่องเกมย้อนยุคที่วางขายภายหลังอย่าง Famicom mini หากมองบนตัวเครื่องและบนกล่องเกมมันใช้ชื่อว่า Family Computer อยู่คาดว่าผู้สร้างต้องการคงความคลาสสิกให้เหมือนกับต้นฉบับมากที่สุด

ตำนานของ Famicom แม้ว่าปู่นินจะไม่ได้ใช้ชื่อนี้ไปนานแล้ว เพราะตั้งแต่ยุค 16Bit ก็ไม่ได้สานต่ออีกนอกจากเกมแนวย้อนยุค แต่เชื่อว่าชื่อ Famicom จะอยู่ในใจคอเกมยุค 80S แทบไม่มีใครจำชื่อ Family Computer หรือไม่มีใครจำได้ว่า Sharp เคยออกเตาอบชื่อนี้ ถือเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ชื่อเกมคอนโซลของปู่นินเป็นประเด็นปัญหา

ข้อมูลอ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส