วิกฤต Covid-19 ทำให้หลายคงต้องอยู่กับบ้าน เหล่าเด็ก ๆ ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ จะออกไปเล่นนอกบ้านแทบไม่ได้เลย ผู้ปกครองจึงอนุญาตให้หนู ๆ เล่นเกมใน Smart Phone จนบางท่านอาจละเลยเรื่องความรุนแรงของเกมต่ออายุของเด็ก ๆ บางครั้งสิ่งเหล่านี้ผู้ปกครองต้องคอยควบคุม และป้องกันให้แก่เด็ก ๆ ด้วย


ความรุนแรง ตัวร้ายที่น่ากลัว


หากให้หลายคนนิยามคำว่า “การใช้ความรุนแรง” น้อยคนที่จะหาคำอธิบายในเชิงบวกได้ เพราะความรุนแรงคือการกระทำ การกระทำอะไรสักอย่างด้วยความหนักหน่วง ทำให้ถึงที่สุดถึงขั้นสาหัส จึงไม่มีใครอยากให้ความรุนแรง เกิดขึ้นกับตัวเองสักเท่าไหร เราจึงยกให้ความรุนแรงคือ ตัวร้ายที่น่ากลัวที่สุดในพฤติกรรมมนุษย์ แล้วเหตุการณ์เหล่านี้ทำไมถึงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ? สิ่งเหล่านี้สามารถควบคุมได้หรือไม่? เชื่อว่าหลายคนหากได้เห็นพฤติกรรมการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก การใช้คำพูดที่รุนแรง การตบตี การข่มขู่ซึ่งกันและกัน คงไม่มีใครที่อยากให้เกิดขึ้นเป็นแน่

ทำไมความรุนแรงถึงเกิดขึ้นได้

การใช้ความรุนแรงมีผลกระทบที่โหดร้าย และมีหลากหลายปัจจัย แต่หากจำแนกคงแบ่งออกได้ทั้งหมด 3 ปัจจัย ได้แก่

  • ปัจจัยจากครอบครัว เช่น ผู้ที่ทางครอบครัวใช้ความรุนแรงจนเกิดการซึมซับ ทางครอบครัวไม่มีการแนะนำในเรื่องการใช้ความรุนแรงหรือครอบครัวที่ขาดความอบอุ่น ครอบครัวที่ตามใจลูกมากเกินไป จึงใช้ความรุนแรงในการตัดสินใจ ทำให้คิดว่าความรุนแรงเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนปฏิบัติกัน
  • ปัจจัยภายในบุคคล เช่นผู้ที่เคยเป็นเหยื่อของความรุนแรง การที่ไม่สามารถเข้าร่วมสังคมได้ ไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์ต่อผู้อื่น ส่งผลให้ผู้คนเหล่านี้มีความคิดที่ผิดแปลก ชอบใช้ความรุนแรงเพื่ออำนาจ ใช้ควบคุมผู้อื่นได้ตามต้องการ
  • ปัจจัยจากสภาพแวดล้อม เช่น สภาพแวดล้อมที่มีความเคร่งเครียด ทำให้จิตใจของผู้คนเศร้าหมอง หดหู่ ผู้คนจึงระบายออกมาผ่านความรุนแรง รวมทั้ง สื่อ มือถือ ที่แสดงภาพพฤติกรรมความรุนแรง เหมือนเป็นเรื่องปกติ

แล้วเราจะหยุดพฤติกรรมความรุนแรงได้อย่างไร ?

อันดับแรก คือ ฝึกฝนตัวเราเอง การใช้สติในการตัดสินใจคิดถึงผลกระทบ ที่มีต่อคนรอบข้างในพฤติกรรมของเรา การหากิจกรรมเพื่อผ่อนคลายความเครียดของตนเอง หลีกหนีจากผู้ที่ใช้กำลังในการตัดสินใจ

อันดับสอง คือ ครอบครัว ครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นสังคมกลุ่มแรกที่ทุกคนได้เรียนรู้การเป็นพลเมืองที่ดี เป็นสังคมแรกที่เป็นตัวขัดเกลานิสัยของคนทุกคน ฉะนั้นทุกคนในครอบครัวต้องมีความรักใคร่กลมเกลียวกัน ไม่ใช้ความรุนแรงในการสั่งสอนหรือแก้ปัญหากับเด็ก มีกติการะเบียบการเคารพซึ่งกันและกันเกิดขึ้น

อันดับสาม คือ รณรงค์ การร่วมมือของทุก ๆ ฝ่ายทางสังคม สื่อ ต่าง ๆ เพื่อป่าวประกาศการความรุนแรงเป็นสิ่งที่แย่ที่ เป็นพฤติกรรมที่ผิดปกติทางสังคม เพราะปัจจุบันสื่อสารมารถเข้าได้ถึงทุกเพศทุกวัยอย่างง่ายดาย จึงเป็นตัวช่วยที่ดีอีกทางในการ หยุดความรุนแรงได้


เกมกับความรุนแรง


อย่างที่ทราบกันดีว่าทุกวันนี้ สื่อ เทคโนโลยี พัฒนากันอย่างมาก ส่งผลให้ทุกเพศทุกวัยเข้าถึงกันได้มากขึ้น กิจกรรมที่คนทุกกลุ่มเข้าถึงได้ง่ายที่สุดคือ เกม ไม่ว่าจะเป็นเกมมือถือ หรือเกมใน PC หากจะบอกว่าความรุนแรงภายในเกมนั้นมีมานานมากแล้ว หลายคนจึงคิดว่าเป็นแบบนั้น ไม่อยากให้ลูกหลานยุ่งกับการเล่นเกมแล้ว อันที่จริงเกมนั้นไม่ใช่สื่อที่ส่งเสริมอบายมุข ความรุนแรงหรือสิ่งมอมเมาแต่อย่างใด ผู้พัฒนาสร้างเกมขึ้นมาก็เพื่อให้ผู้เล่นได้ผ่อนคลาย แต่เมื่อโลกเทคโนโลยีได้เปลี่ยนไปเหล่าเอนจินซอฟแวร์ต่าง ๆ ได้พัฒนา การตลาดเกมที่แข่งขันกันสูงขึ้น ทำให้มีการกำเนิดแนวเกมใหม่ ๆ รวมถึงความรุนแรงและความสมจริงภายในเกมที่ทวีคูณ

การจัดเรทเกม

สัญลักษณ์การจัดเรทเกมของประเทศต่าง ๆ

แน่นอนว่าเหล่าผู้ปกครองกังวลเกี่ยวกับ ความรุนแรงที่จะส่งผลกับเด็ก แต่ไม่ต้องห่วงค่ะเพราะเหล่าผู้พัฒนาได้จัดเรตเกม โดยการส่งตัวเกมให้กับองค์กรที่ชื่อว่า ESRB (Entertainment Software Rating Board) พิจารณาความเหมาะสม ตามอายุที่สามารถเล่นเกมแนวนี้ได้ หากเกมใดไม่จัดเรตเกมนั้น ๆ ถือว่าผิดกฎหมายทันที เหล่าองค์กรที่คอยจัดเรทเกมนั้นก็ไม่ได้มีแค่เพียงองค์กรเดียว แต่มีทั้ง PEGI (Pan-European Game Information) ของทางฝั่งยุโรป , CERO (Computer Entertainment RatingOrganization) ของทางฝั่งญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศที่มีการจัดเรตเป็นของตนเอง

เราจะเห็นว่าองค์กรที่ช่วยคัดกรองเรทเกมนั้น มีอยู่หลัก ๆ ทั้งหมดสามโซนคือ อเมริกา ยุโรปและญี่ปุ่น การคัดสรรบางครั้งแต่ละประเทศจะแตกต่างกันออกไป นอกจากตามเรทแล้วอายุแต่ละเรทก็ต่างออกไป โดยหลักแล้วจะแบ่งตามนี้ค่ะ

เรตความรุนแรงที่จัดกันทั่วไป

  • Fear (ภายในเกมมีความน่ากลัว)
  • Violence (ภายในเกมใช้ความรุนแรง)
  • Gambling (ภายในเกมมีสิ่งพนัน)
  • Bad Language (ภายในเกมมีการใช้คำหยาบคาย)
  • Drugs (ภายในเกมมีการใช้สารเสพติด)
  • Sex (ภายในเกมมีฉากอนาจาร เพศ)
  • Discrimination (ภายในเกมมีการแบ่งแยก)
  • Online (ภายในเกมต้องเล่นออนไลน์เท่านั้น)
    เรทเกม,โซนเกม,ความรุนแรงในเด็ก,ความรุนแรงในเกม

    สัญลักษณ์การแบ่งเรตเกมของสามโซนหลัก

สำหรับการดูแลจัดเรตความเหมาะสมอายุภายในเกมของประเทศไทย คือสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ(สวช.) จัดแบ่งคล้ายสื่อโทรทัศน์ในปัจจุบัน การจัดเรตเกมนั้นไม่ได้มีอยู่ในเฉพาะเกม PC หรือคอนโซน ยังรวมถึงเกมที่อยู่ภายในโทรศัพท์มือถือทั้ง ios และ Android อีกด้วยค่ะ

pubg PUBG MOBILE

ตัวอย่างเกมในมือถือ PUBG Mobile ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า ควรให้เด็กอายุ 16 ปีขึ้นไปเล่นได้


ไม่อยากให้ลูกหลานเป็นทาสเกม?


เหตุที่เจาะจงเด็กมากที่สุด เพราะเด็กเป็นผ้าขาวของสังคม การที่เด็กคนหนึ่งเติบโตขึ้นมาได้ อยู่ที่การเลี้ยงดูและประสบการณ์ที่เด็กได้พบ อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามาในชีวิตของเรามากขึ้น กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตไปแล้ว ผู้ปกครองบางท่าน อาจไม่มีเวลาเลี้ยงดูด้วยตัวเอง อาจให้ปู่ย่าตายายช่วยเลี้ยงลูก เพิ่มความเสี่ยงทำให้เด็ก ๆ เล่นโทรศัพท์ ,PC ,คอนโซลมากเกินไป จนบางครั้งไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมที่มากับ Social Media หรือ ไม่ได้ห้ามปรามเรื่องความเหมาะสม ในการเล่นเกมของเด็ก ๆ ทำให้ลูกหลาน ซึมซับพฤติกรรมความรุนแรงนั้นโดยไม่รู้ตัว

หากจะห้ามเด็กน้อยสมัยนี้ไม่ให้เล่นเกมละก็ คงจะเป็นอะไรที่ยากยิ่งกว่าจับปูใส่กระด้งเสียอีก เพราะฉะนั้นผู้ปกครองอย่างเราก็ต้องหาวิธีเพื่อให้ลูก ๆ ไม่ตกเป็นทาสของเกม”

5 วิธีเบื้องต้นที่ผู้ปกครองทุกคนสามารถทำได้ง่าย ๆ ก่อนที่จะสายเกินแก้

  1. พูดคุยอย่างเปิดอก พูดอย่างเปิดอกในที่นี้คือ การที่ผู้ปกครองต้องเตรียคำพูดที่ไม่กระทบต่อความรู้สึกของลูก บอกกล่าวถึงความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา ถึงผลของการเล่นเกมมากเกินความจำเป็น ไม่ควรใช้คำพูดที่รุนแรงไปกับเด็ก ๆ
  2. สร้างข้อตกลง การสร้างข้อตกลงต่อเด็กเป็นเรื่องที่ผู้ปกครองทำได้อย่างง่ายมาก ทั้งเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างระเบียบวินัยได้ เช่น หากหนูล้างจานเสร็จแล้วหนูก็จะเล่นเกมได้นะ หรือ การจำกัดเวลาในการเล่นเกมของเด็กน้อยให้ไม่เกิน  3 ชั่วโมง ต่อวัน
  3. สร้างวินัย การสร้างวินัยคือการที่ให้เด็ก ๆ ทำตามข้อตกลงอย่างชัดเจน ไม่มีข้อแม้ใด ๆ ทั้งสิ้น ถือว่าเราได้ตกลงกันไปก่อนหน้านี้แล้ว หากมีการระเมิดกฏที่ตั้งไว้ ผู้ปกครองควรให้คำแนะนำกับเด็ก ๆ สอบถามความคิดเห็นของเขา เหตุใดถึงไม่ทำตามที่ตกลงกันไว้ ผู้ปกครองควรใจแข็งให้มากที่สุด
  4. ผู้ปกครองควรตามเด็กให้ทัน อย่างที่กล่าวข้างต้นเกมในปัจจุบัน มีการจัดแบ่งตามความเหมาะสมของอายุ ผู้ปกครองต้องหมั่นสอดส่องเกม ที่บุตรหลานกำลังเล่น ว่ามีความเหมาะสมต่อตัวเด็กหรือไม่
  5. เล่นด้วยกันแทนควบคุม ผู้ปกครองควรเข้าไปเล่นเกมกับลูก ๆ เพื่อช่วยแนะนำแก่เหล่าเด็ก ๆ ถึงบางพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมภายในเกม เมื่อผู้ปกครองสามารถเล่นเกมกับบุตรหลานได้ เราสามารถเลือกเกมให้กับเด็ก ๆ เล่นด้วยกันอย่างมีความสุขและเหมาะสมได้ เพราะเกมก็เป็นกิจกรรมที่ช่วยสร้างเสียงหัวเราะ ภายในครอบครัวนั้นเองค่ะ

หากผู้ปกครองได้ลองทำทุกวิถีทาง ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการติดเกมของเด็ก ๆ แต่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ควรพาบุตรหลานไปหาจิตแพทย์ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือต่อไป

การปล่อยปะละเลยบางครั้ง กลายเป็นปัจจัยทางสังคมเป็นฉนวนเล็ก ๆ ที่ส่งผลให้เด็ก ๆ เกิดพฤติกรรมเลียนแบบความรุนแรงได้ เนื่องจากเด็กบางช่วงอายุนั้น ไม่มีความสามารถพิจารณาสิ่งที่ถูกที่ควรได้ดี เพราะตอนนี้ Smart Phone เป็นของเล่นที่เด็ก Gen Alpha แทบทุกบ้านขาดไม่ได้ เราที่เป็นผู้ปกครองก็ต้องคอยป้องกัน ไม่ควรใช้ Smart Phone หรือปล่อยบุตรหลานเล่นเกมบางจำพวก ให้เป็นพี่เลี้ยงเด็ก เพราะปัญหาความรุนแรงภายในเกมไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส