เกมซีรีส์ Super Mario ถือเป็นหนึ่งในตำนานของวงการเกมที่มีสร้างปรากฏการณ์มาอย่างยาวนานกว่า 35 ปีแล้ว และภาคล่าสุดอย่าง Super Mario Odyssey ก็ขายได้มากกว่า 20 ล้าน ถือว่าเป็นซีรีส์เกมที่ได้รับความนิยมต่อเนื่อง แต่ใครจะเชื่อว่าเกมระดับนี้จะเคยมีภาคที่ต้องโดนปรับแต่งแก้ไข เพื่อให้เอาไปขายในต่างประเทศได้
ซึ่งเกมนั้นคือ Super Mario Bros 2 ที่มีการออกสองเวอร์ชั่นที่แตกต่างกันแบบคนละเกม และในไทยถือว่าโชคดีเพราะได้เล่นทั้งสองเกม แบบเต็ม ๆ ไม่ได้แบ่งแยกตั้งแต่ยุค 80 – 90 แล้ว และวันนี้ทาง Beartai ได้นำตำนานของ Super Mario 2 เกมมาริโอหนึ่งเดียวที่มีการผลิตออกมาสองภาค ที่แม้ว่าหลายคนอาจจะพอรู้เรื่องราวอยู่แล้ว แต่ความจริงมีอะไรซับซ้อนกว่านั้นและบางส่วนของเกมยังคงอยู่ใน DNA ของเกมมาริโอภาคใหม่ ๆ ที่กำลังจะออกวางขายด้วย
ก้าวแรกของ Mario 2 เพื่อส่งเสริมการขายอุปกรณ์เสริมแฟมิคอม
หลังจากนินเทนโดประสบความสำเร็จมหาศาลกับ Super Mario ภาคแรกที่ขายดีแบบถล่มทลายในปี 1985 แน่นอนว่าภาคต่อต้องมา และการมาลองลุงหนวดภาคสองเป็นการวางขายพร้อมกับอุปกรณ์เสริมของแฟมิคอม ในชื่อ Famicom Disk System ที่วางขายครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นในปี 1986 เพื่อมากระตุ้นยอดขายและช่วยให้แฟนเกมประหยัดเพราะใช้แผ่น Disk แทนตลับเกมที่มีราคาแพงกว่า ซึ่งประวัติของเครื่อง Famicom Disk System ทางทีมงานจะเขียนแยกเป็นอีกบทความ
ส่วน Super Mario Bros 2 กลายเป็นเกมชูโรงของ Famicom Disk System เพราะออกวางขายพร้อมกัน และออกเป็นแผ่น Disk เท่านั้นในตอนแรกที่วางขาย และเชื่อหรือไม่หากนับเวลาการวางขายจากเกมมาริโอภาคแรกแล้ว Super Mario Bros 2 วางขายในประเทศญี่ปุ่นห่างจากภาคแรกเพียง 10 เดือนเท่านั้นถือว่าเป็นภาคต่อที่ออกวางขายเร็วมากหากเอามาตรฐานเกมในยุคนี้ แต่สำหรับยุค 80 ถือว่าปรกติที่เกมดังประสบความสำเร็จจะรีบเข็นภาคต่อออกมาทันที
ภาคต่อฉบับญี่ปุ่นที่แทบจะเหมือนเดิม
แต่การที่มันรีบออกภาคต่อ ทำให้การสร้างเกมในเวลาหลักเดือนทำให้รายละเอียดของ Super Mario Bros 2 แทบจะเหมือนภาคแรกทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นกราฟิก ที่มีการปรับรายละเอียดเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเช่นบล็อกและพื้นผิว ส่วนเพลงประกอบที่เหมือนเดิมไม่ได้มีการแต่งเพลงใหม่เข้าไป รวมทั้งศัตรูและบอสในเกมที่ยังคงรูปแบบเดิม ๆ ทำให้หากเอามาตรฐานเกมในทุกวันนี้มาเทียบแล้ว Super Mario Bros 2 เหมือนกับเป็นตัวดาวน์โหลดเสริมมากกว่าเป็นภาคใหม่ แต่ดูเหมือนว่าแฟน ๆ ชาวญี่ปุ่นจะไม่สนใจแห่ไปซื้อเกมจนขายได้มากกว่า 2 ล้านแผ่นในดินแดนบ้านเกิด
ระดับความยาก Dark Souls ฉบับ 8Bit จนต้องสร้างใหม่ !!
ในเมื่อรูปแบบการเล่นและฉากจะเหมือนเดิม จุดเด่นหลัก ๆ ของ Super Mario Bros 2 คือความยากระดับหินโหดชนิดเรียกได้ว่ามันคือ Dark Souls แห่งยุค 80 ไล่ตั้งแต่แค่เริ่มต้นก็พบกับเห็ดพิษที่หลอกล่อให้ผู้เล่นหน้าใหม่ให้ตายได้ง่าย ๆ และฉากในเกมที่สร้างออกมายากชนิดต้องร้องขอชีวิต บางฉากใช้วิธีผ่านด่านที่โหดแบบไม่น่าเชื่อเรียกว่าเจตนาของผู้สร้างภาคนี้คือเพิ่มความยากของ Mario ให้โหดกว่าเดิมแต่ไม่ได้ใส่อะไรใหม่ ๆ เข้าไปมานัก เท่าที่เห็นคือมีการเพิ่มอุปสรรคอย่างลมพายุที่ทั้งช่วยให้ลุงหนวดของเราลอยตัวไปได้ไกลขึ้น แต่ในทางกลับกันหากจับจังหวะไม่ดีก็จะพัดเราตกเหวตายได้ง่าย ๆ เช่นกัน และภาคนี้ยังมาพร้อมกับฉากที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งความลับที่ซ่อนอยู่เพียบเล่นได้ยาว ๆ กว่าเดิม ซึ่งความยากของเกมที่เพิ่มขึ้นทำให้ภาคนี้ผู้สร้างได้ใส่การ continued ได้แบบไม่จำกัดมาให้ด้วย
และด้วยความยากระดับปาจอยทิ้งทำให้มันเกิดปัญหา โดยก่อนที่ Mario 2 ไปวางขายในอเมริกา มีการส่งตัวเกมเวอร์ชันญี่ปุ่นไปให้ทีมงาน นินเทนโดอเมริกา ได้ทดลองเล่นกันและผลออกมาสรุปว่าเกมยากเกินไปผู้เล่นชาวอเมริกันจะหัวร้อนมากกว่าสนุกท้าทาย ทำให้มีการบอกไปยังทีมงานในญี่ปุ่นว่า Super Mario Bros 2 ฉบับญี่ปุ่นไม่เหมาะสำหรับการวางขายใน USA ทำให้ทีมงานต้องกลับมานั่งคิดว่าจะทำอย่างไรดีถึงจะสามารถสร้างหรือแก้ไขใหม่ได้อย่างรวดเร็วและเหมาะสมกับตลาดอเมริกา เพราะหากต้องรื้อเกมใหม่ทั้งหมดคงจะเสียเวลาเป็นปี ๆ แน่
คำตอบคือเกมที่สร้างร่วมกับช่องทีวี !!
ในปี 1987 นินเทนโดได้รวมมือกับสถานีโทรทัศน์ฟูจิ ที่มีการจัดงานอีเวนต์แสดงโชว์ และมีสวนสนุกให้เล่นกันและหนึ่งในนั้นคือตัวละครประจำโชว์ และมีการจับมือกันเพื่อสร้างเกมเพื่อร่วมโปรโมทงานด้วย และเกมที่ว่านั้นคือ Yume Kojo Doki Doki Panic ที่วางขายบน Famicom Disk System ในปี 1987 โดยตอนที่เปิดตัวนักวิจารณ์ได้กล่าวว่ามันคือเกมแนวมาริโอ ที่สนุกและมีความแตกต่าง ทำให้มันคือคำตอบไปยังนินเทนโดอเมริกา เกี่ยวกับอีกเวอร์ชันของ Super Mario Bros 2 !!
การปรับเปลี่ยนที่เหมือนเปลี่ยนไปทั้งเกม
หลังจากนินเทนโดตัดสินใจนำ Yume Kojo Doki Doki Panic มาสร้างเป็น Super Mario 2 ก็ได้เวลาสร้างโดยใช้ทีมงานเดียวกัน ซึ่งอย่างแรกคือเปลี่ยนตัวละคร 4 ตัวมาเป็นมาริโอ โดยต้นฉบับของเกมจะมี 4 ตัวละครหลักได้แก่ Imajin เปลี่ยนมาเป็น Mario ที่นับเป็นตัวละครที่สมดุลทุกส่วน ต่อด้วย Mama เปลี่ยนเป็น Luigi ที่มีจุดเด่นที่กระโดดได้สูง แต่จะบังคับได้ลำบากกว่า ส่วนสาวน้อย Lina เปลี่ยนเป็นเจ้าหญิงพีช ที่ลอยตัวกลางอากาศได้ และนับเป็นครั้งแรกที่เจ้าหญิงออกร่วมต่อสู้กับมาริโอด้วย ปิดท้ายกับ Papa เปลี่ยนมาเป็น Toad ตัวละครที่วิ่งได้เร็วแต่ไม่ถนัดเรื่องกระโดด
และไม่เพียงเปลี่ยนตัวละครเท่านั้นไอเทมในเกมยังปรับเปลี่ยนให้เข้ากับเกมมาริโอ เช่น Power Up เปลี่ยนเป็นเห็ด และโดนศัตรูแล้วตัวเล็กลง ส่วนฉากในเกมปรับให้สมดุลและลื่นไหลมากขึ้น แต่หลัก ๆ ใน Yume Kojo Doki Doki Panic ที่สนุกลงตัวไม่ได้เปลี่ยน ตัวละครจะต้องกระโดดและจุดเด่นของเกมคือการจับตัวศัตรูหรือสิ่งของไปปาเป็นอาวุธได้ นอกจากนี้ตัวละครของเรายังสามารถขุดทรายลงไปเพื่อทำทางไปต่อ และมีการกระโดดสูงด้วยการชาร์จพลัง ส่วนไอเทมอย่างดอกไม้ไฟ ก็ไม่ได้มีมาให้เห็นซึ่งทำให้มันไม่เหมือนเกมจากซีรีส์ มาริโอ ส่วนความยากของเกมอยู่ในระดับกลาง ๆ ไม่ยากและไม่ง่ายจนเกินไป สามารถเล่นจนจบได้แบบหัวไม่ร้อน
แถมบอสใหญ่ในเกมที่เปลี่ยนจากคุปป้าหรือ Bowser มาเป็นกบยักษ์นาม Wart แถมเรื่องราวก็เปลี่ยนไปหมด (มีสปอยล์เนื้อเรื่อง) โดยปรกติเรื่องราวของเกมมาริโอจะออกไปช่วยเจ้าหญิงพีช แต่เรื่องราวใน Super Mario Bros 2 โซนอเมริกาจะเปลี่ยนเป็นการไปช่วยนางฟ้าตัวจิ๋วที่โดน Wart จับตัวไป แถมตอนจบของเกม Super Mario Bros 2 เป็นเพียงแต่การฝันไปของลุงหนวดมาริโอของเราเท่านั้น ถือเป็นการตอบคำถามของความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดของเกมว่าทำไมแตกต่างจากภาคแรก เพราะมันเป็นความฝันของมาริโอ ซึ่งใน Super Mario Bros 3 ที่วางขายภายหลังทุกอย่างกลับมาเหมือนกับภาคแรกแล้ว
การวางขายในอเมริกาที่ประสบความสำเร็จแบบไม่ต้องคิดมาก
และในเมื่อต้องมีการดัดแปลงปรับปรุง ทำให้ Super Mario Bros 2 วางขายล่าช้า โดยมีการวางขายในปี 1988 ในอเมริกาช้ากว่าในญี่ปุ่นมาก เพราะในปี 1988 ในแดนปลาดิบมีการวางขายภาค 3 แล้ว ซึ่งมันก็ขายดีตามคาดเพราะในปลายยุค 80s นินเทนโดแทบจะครองตลาดเกมในอเมริกาทั้งหมด และแฟนเกมต่างกระหายเกมใหม่ ๆ จากนินเทนโดที่ห่างหายการออกภาคใหม่ไปหลายปีทำให้แค่เปิดตัวตลับเกม Mario 2 ก็ขาดตลาดในทันทีจนถึงขั้นเป็นข่าวออกทีวีว่ามีแฟนเกมหลายคนลงทุนนั่งเครื่องบินข้ามรัฐเพื่อไปซื้อเกมกันเลย
โดยในตอนแรกเด็ก ๆ ในอเมริกาไม่รู้เลยว่าเกม Mario 2 ไม่ใช่ภาคต้นฉบับที่วางขายในญี่ปุ่นเพราะสื่อในยุค 80s มีเพียงทีวีและนิตยสารเท่านั้น แต่หลังจากวางขายเริ่มมีหลายสื่อปล่อยภาพ Mario 2 เวอร์ชันญี่ปุ่นมาให้ชม แต่ดูเหมือนแฟน ๆ เกมจะไม่ได้สนใจในเมื่อเกมมันสนุก และท้ายที่สุดเกม Super Mario Bros 2 เวอร์ชั่น USA ขายได้มากถึง 10 ล้านชุด โดยนับยอดรวมในอเมริกา และยุโรป ถือว่าประสบความสำเร็จมากกว่าต้นฉบับที่วางขายเฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้น
เวอร์ชั่นเอามาขายใหม่ทั้ง อเมริกา และญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตามหลังจากนั้น นินเทนโดก็ได้นำ Super Mario Bros 2 ทั้งสองเกมมาสร้างใหม่ โดยครั้งแรกในญี่ปุ่นช่วงยุค 90s ปู่นินได้นำเวอร์ชันอเมริกา มาขายแบบตลับบนแฟมิคอม ในชื่อ Super Mario USA และหลังจากนั้นบน Super Famicom (SNES ในอเมริกา) มีการขายมาริโอรวมฮิตในชื่อ Super Mario All-Stars และในโซนอเมริกามีการใส่ Mario 2 เวอร์ชั่นญี่ปุ่นเข้าไปในชื่อเกม Super Mario Bros The Lost Levels เข้าไป ส่วนในโซนญี่ปุ่นของเกม Mario All-Star มีการใส่ภาคสองเวอร์ชั่นอเมริกาในชื่อเกม Super Mario USA แทน เรียกได้ว่าแฟนปู่นินทั่วโลกได้เล่นกันครบ และเป็นเวอร์ชันที่ปรับปรุงให้เป็นภาพแบบ 16Bit ด้วย
และเชื่อหรือไม่ว่าแม้ว่าเกม Mario 2 อเมริกาจะเหมือนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแต่ DNA ของเกมยังคงอยู่ในซีรีส์ มาริโอ ในทุกวันนี้หลายตัวละครใน Super Mario Bros 2 มาอยู่ในภาคหลักด้วยเช่น Shy guy และการเลือกตัวละครได้ 4 ตัวได้ถูกนำมาใช้อีกครั้งในเกม Super Mario 3D World บน WiiU และ Nintendo Switch ที่ผู้เล่นสามารถเลือกได้ทั้ง Mario , Luigi , Toad และ เจ้าหญิงพีช เหมือนกับภาค 2 ด้วย
เอาจริง ๆ ตำนานของเกม Super Mario Bros 2 ที่มีการสร้างออกมา 2 ครั้ง แสดงให้เห็นว่านินเทนโด เอาใจใส่ต่อแฟนเกมทั่วโลก ที่ไม่ฝืนขายเกมต้นฉบับหากมองว่ามันไม่เหมาะสม และเป็นเรื่องที่ในยุคนี้อาจจะไม่เกิดขึ้นอีกเพราะมันเป็นการนำเกมอื่นที่ไม่ใช่ซีรีส์หลัก มาทำเป็นอีกเกมไปเลยคงไม่ใช่เรื่องดี และสื่อทุกวันนี้ที่ออนไลน์กันหมดแล้ว ทำให้ข่าวจะถึงหูแฟนเกมก่อนตัวเกมจะวางขายด้วยซ้ำ ถือเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ของวงการเกมที่ต้องจารึกไว้
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส