หากจะพูดถึงเครื่องเกมคอนโซลระดับตำนานแล้ว แฟมิคอม ก็คงอยู่ในใจแฟนเกมทั่วโลกโดยเฉพาะชาวไทยที่ในยุค 80 แทบจะประสบความสำเร็จอยู่เจ้าเดียว แต่ในบ้านเกิดอย่างญี่ปุ่นแฟมิคอมมีคู่แข่งอยู่หลายเจ้าไม่ว่าจะเป็น SEGA ที่ก่อน Mega Drive จะวางขายก็มีการออกคอนโซลมาหลายเครื่อง รวมทั้งจากค่าย NEC อย่าง PC-Engine และถือว่าขายดีพอสมควรด้วย

และในช่วงกลางยุค 80s หลังจากแฟมิคอมวางขายมาได้สามปี นินเทนโดก็ได้ออกวางขายอุปกรณ์เสริมในตำนานในชื่อ Famicom Disk system ที่วางขายในญี่ปุ่นในปี 1986 ที่ไม่ได้ออกมาเพื่อเพิ่มสเปกหรือความสามารถอะไร แต่ออกมาเพื่อแก้ปัญหาสื่อแบบตลับที่ใช้ชิปที่มีราคาแพงมากขึ้น จนต้นทุนสูงขึ้นกว่าเดิมมาก และด้วยสื่อของแฟมิคอมที่ใช้ตลับทำให้นอกจากแพงแล้วยังใช้เวลานานกว่าเพราะต้องเสียเวลาผลิต ทำให้ปู่นินต้องหาทางแก้ปัญหาในการผลิตสื่อใหม่ออกมารองรับเกมใหม่ ๆ ในต้นทุนที่ถูกลง

เกือบได้ร่วมมือกับ Hudson Soft
ในตอนแรก นินเทนโด ได้เกือบได้ร่วมงานกับค่าย Hudson Soft ที่ถือว่าเป็นยักษ์ใหญ่อีกค่ายในยุคนั้น เพราะทางค่ายมีเทคโนโลยีสื่อความจุในชื่อ Bee Card ที่ใช้ในเครื่องเกม MSX ที่มีรูปร่างเป็นแผ่นพลาสติกขนาดเท่า ๆ กับบัตรเครดิต และยังสามารถเขียนทับและบันทึกข้อมูลได้ด้วย ถือว่าตรงสเปกที่ปู่นินต้องการอย่างมาก แต่การร่วมมือไม่ได้เกิดขึ้นเพราะราคาของ Bee Card แพงเกินไป แต่ทางค่าย Hudson Soft ได้ไปพัฒนาต่อกับค่าย NES จนกลายเป็น Hu Card บนเครื่อง PC-Engine ที่ขายดีพอสมควรด้วย

คำตอบคือแผ่นดิสก์
หลังจากปู่นินกลับมาหาทางแก้ไขเอง โดยทีมงานสร้างเครื่องแฟมิคอมเดิม ในที่สุดคำตอบก็ง่าย ๆ คือแผ่นฟลอปปีดิสก์ สื่อที่นิยมใช้ใน PC ในอดีต แต่จะให้นินเทนโดเอาแผ่นฟลอปปีดิสก์ที่ใช้กับ PC มาเลยก็คงไม่ดีแน่นอนเพราะจะโดนคน Copy เกมไปได้ง่าย ๆ แน่นอนทำให้ต้องมีการคิดและพัฒนาแผ่นฟลอปปีดิสก์เองให้มีขนาดเล็กและแตกต่าง เพื่อไม่ให้เอาไปใช้งานบน PC ได้และเพื่อป้องกันไม่ให้ใครเอาเกมไป Copy โดยแผ่น ฟลอปปีดิสก์ ของปู่นินจะมีความจุ 112k ต่อ 1 แผ่นโดยจะต้องสลับหน้า A และ B ด้วยเท่ากับว่าต่อหนึ่งหน้าจะมีความจุประมาณ 60K และทำให้ต่อ 1 แผ่นดิสก์จะลงเกมขนาดเล็กได้ 2 เกมในแผ่นเดียว และเมื่อคิดได้ทีมงานนินเทนโดได้สร้างตัวอ่านแผ่นเชื่อมต่อกับแฟมิคอมในนาม Famicom Disk system ออกวางขาย

ข้อดีมีมากมายแถมราคาถูก
สิ่งที่เป็นปัญหาหลักของเครื่องเกมที่ใช้ความจุแบบตลับเกมคือ ราคาของชิปที่ไม่แน่นอนบางครั้งถูกบางทีก็ขึ้นไปสูง โดยตลับเกมในยุคนั้นจะมีราคาประมาณ 1,000 บาท สำหรับกลางยุค 80 ถือว่าสูงพอสมควร แต่พอมาเป็นแผ่นฟลอปปีดิสก์ที่มีทุนต่ำกว่ามาก ทำให้ปู่นินตั้งราคาขายฟลอปปีดิสก์ของ Famicom Disksystem เพียง 300 บาทเท่านั้นถือว่าแตกต่างกันมากพอที่จะให้แฟนเกมควักเงินซื้อ Famicom Disk system อุปกรณ์เสริมที่เป็นตัวอ่านแผ่นและแรมที่เป็นตลับเสียบกับ Famicom ที่ต้องจ่ายเพิ่มอีก 15,000 เยนในยุคนั้นหรือประมาณ 4,200 บาท แพงพอ ๆ กับเครื่องเกมในยุคนั้น

และเนื่องจาก ฟลอปปีดิสก์ สามารถบันทึกข้อมูลและเขียนทับได้ ทำให้เกมบน Famicom Disk system สามารถ Save เกมได้โดยไม่ต้องใช้แบตเหมือนกับตลับเกมทำให้แฟนเกมสะดวกขึ้นมาก และการที่มันเขียนทับได้ทำให้ปู่นินสร้างเครื่องขายเกมเป็นเหมือนตู้อัตโนมัติวางตามร้านเกม โดยผู้เล่นสามารถเอาแผ่นฟลอปปีดิสก์ เสียบไปที่เครื่องแล้วซื้อเกมใหม่ ๆ ที่จะเขียนทับเกมเก่าไปได้เลย แถมราคาขายของเกมที่กดผ่านตู้ขายเพียงแต่หลักร้อยกว่าบาทเท่านั้น ถือว่าเป็นไอเดียที่ยอดเยี่ยมที่แฟนเกมจะสามารถได้เกมใหม่ ๆ ไปได้ในราคาประหยัดมากแถมยังสะดวกเพราะกดได้เหมือนกับการซื้อน้ำดื่มผ่านเครื่องขายอัตโนมัติ

เกมออกมารองรับเพียบ
ในตอนแรกปู่นินจริงจังกับ Famicom Disk system มากถึงขนาดขนเกมดังเปิดตัวเพียบ ไม่ว่าจะเป็นตำนานอย่าง Super Mario 2 ฉบับญี่ปุ่นที่วางขายพร้อมกับเครื่อง และยังมีเกม metroid ภาคแรก , เซลด้าภาคแรก , Zelda II: The Adventure of Link, Kid Icarus เกม Yume Kojo Doki Doki Panic และยังมีเกมของค่ายอื่นอย่าง Dracula หรือ Castlevania เวอร์ชันญี่ปุ่นที่วางขายแบบแผ่นฟลอปปีดิสก์ ก่อนถึงจะมีการวางขายแบบตลับ และยังมีหลายเกมที่ไม่ได้ออกเป็นเวอร์ชั่นตลับเกมอีกด้วย และด้วยเหตุนี้เองทำให้แฟนปู่นินที่เป็นเจ้าของแฟมิคอมอยู่แล้วต่างแห่ไปซื้ออุปกรณ์เสริมกันจนทำให้ Famicom Disk system สามารถขายได้มากถึง 4.4 ล้านเครื่องเฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้น เพราะมันวางขายในบ้านเกิดที่เดียว ส่วนในประเทศไทยก็มีการหิ้วเข้ามาขายเช่นกัน ซึ่งบอกตรง ๆ ว่าผู้เขียนเองก็เคยได้สัมผัสที่บ้านเพื่อน (แต่ไม่ได้ซื้อเป็นเจ้าของเพราะไม่มีเงิน)

มาเร็วไปเร็วเพราะอะไร
Famicom Disk system ขายดีอย่างมาก และมีเกมออกมารองรับมากมายแต่หลังจากวางขายมาสักพักค่ายเกมก็หันกลับมาใช้ตลับเกมเป็นสื่อแทน และแม้จะได้รับการตอบรับจากแฟนเกมได้ดีแต่ Famicom Disk system ก็หยุดการผลิตในปี 1990 เพียง 4 ปีหลังจากวางขายถือว่าหยุดผลิตเร็วมากสำหรับคอนโซลของนินเทนโดในอดีตที่จะวางขายยาวนานกว่านี้ เพราะอะไรทำไมถึงไปเร็ว คำตอบง่าย ๆ คือราคาชิปหลังจาก Famicom Disk system วางขายแล้วกลับมีราคาถูกลงจนทำให้ค่ายเกมอื่นหันไปใช้ตลับเกม เช่นทาง Capcom ที่ได้เมินออกแผ่นดิสก์ออกเกม มาไคมูระ แบบตลับเกมหลังจาก Famicom Disk system วางขายไม่นาน แถมปู่นินขอส่วนแบ่งจากการวางขายเกมบน Famicom Disksystem มากถึง 50% สูงกว่าการออกเกมเป็นตลับมากทำให้ค่ายเกมไม่พอใจหันไปทำเกมลงตลับดีกว่า

และหลังจากนั้นแม้แต่ปู่นินเองก็หันไปทำเกมบนตลับอีกครั้งเพราะความจุของแผ่นฟลอปปีดิสก์ของปู่นิน มีความจุ 112k ต่อ 1 แผ่น ไม่เพียงพอที่จะใส่เกมยุคใหม่ได้แล้ว เช่น Super Mario 3 ที่มีความจุมากถึง 3MB หากใช้แผ่นฟลอปปีดิสก์ คงจะต้องใช้หลายแผ่นแน่ ๆ และอย่างที่บอกว่าราคาชิปช่วงปลายยุค 80s ถือว่าถูกลงมากทำให้หลายเกมที่เคยเปิดตัวบน Famicom Disk system มีการวางขายเป็นตลับเกมภายหลังเช่น เซลด้า และ Castlevania นอกจากนี้ Famicom Disk system ไม่ได้วางขายนอกบ้านเกิดอย่างประเทศญี่ปุ่นด้วยเพราะนินเทนโดอเมริกาบอกว่าการมีอุปกรณ์เสริมถือว่ายุ่งยากเกินไปสำหรับแฟนเกมในอเมริกายุคนั้น

Nintendo 64 DD ทายาทที่ล้มเหลว
หลังจาก Famicom Disksystem วางขาย ในยุค Nintendo 64 คอนโซลรุ่นใหม่ของนินเทนโดที่วางขายในปี 1996 นินไทโดได้กลับไปหาไอเดียในอดีตอีกครั้งกับอุปกรณ์เสริมเชื่อมต่อกับเครื่องเกมในชื่อ Nintendo 64 DD ที่วางขายตามเครื่องเกมมาในปี 1999 เพื่อแก้ปัญหาความจุตลับเกมไม่พอ เพราะ Nintendo 64 ใช้สื่อแบบตลับที่มีราคาแพงและมีความจุจำกัดมาก โดยในตอนแรกความจุตลับมีเพียง 32MB เท่านั้นถือว่าน้อยมากเทียบกับเครื่องเกมอื่นที่ใช้ CD เป็นสื่อที่มีความจุมากกว่า 600MB ทำให้ปู่นินต้องออกอุปกรณ์เสริมมาเป็นทางเลือก โดยจะแตกต่างที่ 64DD จะเชื่อมต่อกับเครื่อง Nintendo 64 ที่ด้านล่าง

แต่ด้วยกว่า 64DD จะออกก็ปาไปปี 1999 จะหมดยุคของ Nintendo 64 แล้ว และแผ่นแม่เหล็กที่ใช้ใน 64DD ก็มีความจุเพียง 64MB เท่านั้น แม้จะเสริมบริการออนไลน์เข้าไปก็ไม่ช่วยอะไร โดยในช่วงที่ 64DD วางขายค่าย Square เคยบอกว่าหากจะให้เกม Final Fantasy 7 ออกบน 64DD ได้ต้องใช้แผ่นแม่เหล็กมากถึง 30 แผ่นกันเลย เรียกว่าเป็นการแก้เกมที่ผิดจุดมาก และส่งผลให้ 64DD ล้มเหลวหนักขายไปได้เพียง 15,000 เครื่องเท่านั้นและวางขายเฉพาะในญี่ปุ่น ซึ่งความจริงมีคนคาดว่ามันออกมาแก้ขัดเท่านั้นเพราะหลังจากนั้น 2 ปี Nintendo ได้ออกคอนโซลใช้แผ่นที่ใช้แสงเลเซอร์เป็นตัวอ่านข้อมูลเป็นครั้งแรกในชื่อ Game Cube ที่ต่อ 1 แผ่นมีความจุมากกว่า 1GB

ไอเดียของ Famicom Disk system อาจจะไม่ได้เห็นแล้วในปัจจุบันนี้ เพราะค่ายเกมเลือกที่จะออกเครื่องเกมใหม่ไปเลยมากกว่าจะออกแค่อุปกรณ์เสริม และสื่อทุกวันนี้ที่สามารถซื้อแบบออนไลน์ได้ และยังมีแผ่นที่มีความจุมหาศาลทำให้คงจะไม่จำเป็นที่จะออกเครื่องเกมที่เพิ่มสื่อทางเลือกแบบ Famicom Disk system แต่ตำนานของมันยังคงอยู่จนทุกวันนี้โดยใครอยากมีเป็นเจ้าของก็ยังหาสภาพที่ยังเล่นได้ตามร้านขายเกมเก่าทั่วไป
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส