สำหรับคนทั่วไปหากจะพูดถึง “นินเทนโด” ถือว่าเป็นค่ายเกมที่เน้นหนักด้านสร้างนวัตกรรม หรือลูกเล่นแปลก ๆ ในการเล่นเกมมากกว่าจะเน้นที่กราฟิกสวยงามหรือสร้างเกมตามกระแสโลกมาตลอดตั้งแต่อดีต ซึ่งทำให้วงการเกมมีอะไรสดใหม่มาตลอดกว่า 40 ปีที่ปู่นินเข้ามาทำตลาดวีดีโอเกม และเป็นแนวทางให้ค่ายอื่นเอาไปเลียนแบบ หรือที่เรียกว่าเอาไปเป็นแรงบันดาลใจมาตลอด

และแน่นอนว่าหากคุณเล่นเกมมายาวนานจะรู้ว่าสิ่งที่นินเทนโดทำมาตลอด มีอยู่ในเกมคอนโซลอื่นแทบจะทุกยุคทุกสมัย วันนี้ทาง Beartai ได้รวมเอา นวัตกรรมของค่ายนินเทนโดที่ถูกค่ายอื่นเอาไปเป็นต้นแบบ ที่ส่วนมากจะเป็นตัวควบคุมหรือคอนโทรลเลอร์ ที่เชื่อว่าเวลาปู่นินเปิดตัวเครื่องเกมใหม่แฟนทั่วโลกจะสนใจตัวจอยเกมมากกว่าตัวคอนโซลด้วยซ้ำ เพราะพักหลังนินเทนโดไม่สนใจสเปกหรือความแรงของเครื่อง แต่เน้นที่นวัตกรรมที่จะสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับผู้เล่นมากกว่า จะมีอะไรบ้างไปดูกัน แต่บอกไว้ก่อนว่าบางลูกเล่นนินเทนโดไม่ได้คิดคนแรกแต่ปู่นินเอามาใช้จนประสบความสำเร็จและเป็นแนวทางให้ค่ายอื่นเอาไปเป็นต้นแบบด้วย

D-Pad ตัวควบคุมทิศทางในตำนาน

สำหรับการควบคุมหลักของเกม ปุ่มทิศทางรูปกากบาท หรือที่เรียกว่า D-pad เป็นจุดสำคัญและใครจะรู้บ้างว่าต้นแบบมันไม่ได้อยู่บนเครื่องเกมคอนโซลแต่อยู่บนเครื่องพกพาอย่าง Game & Watch (เกมกด) ของนินเทนโด โดยมันเป็นผลงานของ Gunpei Yokoi ผู้ล่วงลับ บิดาแห่ง Game Boy ที่เป็นการใส่ปุ่มบังคับทิศทางที่ซับซ้อนมากขึ้น โดยใช้ใน Game & Watch รุ่นที่มี 2 หน้าจอ วางขายช่วงต้นยุค 80s

และหลังจากนั้นนินเทนโดมีการสานต่อความสำเร็จนำไปใช้งานบนจอย Famicom ที่เชื่อว่าแฟน ๆ ทั่วโลกจะคุ้นเคยกันดี เพราะความเรียบง่ายในการออกแบบ และสามารถบังคับได้ง่ายดายโดยจะบังคับตัวละครให้เคลื่อนไหวได้ 4 ทิศทาง และเหมาะมากในการควบคุมเกมที่มีความซับซ้อนขึ้น (ในตอนนั้น) เช่นเกม 2D แบบ Mario ที่ต้องใช้การบังคับที่ละเอียดมากขึ้น

และการมาของ D-Pad ทำให้จอยคอนโซลเปลี่ยนรูปร่างไปจากยุคแรกจอยเกมจะเป็นการเล่นในแนวตั้ง มาเป็นแนวนอนที่สามารถใส่ปุ่มกดเข้าไปได้ซับซ้อนมากขึ้น เล่นปุ่ม A B SELECT และ Start และเป็นแนวทางที่เปลี่ยนวงการเกมไปจนถึงปัจจุบัน ที่มีมากกว่า 50 เครื่องเกมที่ใช้ปุ่ม D-pad ในรูปแบบกากบาท แม้ว่าจะมีความแตกต่างในส่วนของรูปร่างหน้าตาและเทคโนโลยีภายใน แต่โดยพื้นฐานมันก็เหมือนกับต้นกำเนิดที่นินเทนโดใช้เป็นแนวทาง และในปัจจุบันคุณสามารถเห็นได้บนทุกเครื่องเกมคอนโซลที่วางขาย แม้แต่บนสมาร์ตโฟนที่ใช้หน้าจอสัมผัสก็มีการใช้ปุ่มจำลองรูปกากบาทมาใช้งานด้วย ซึ่งต้องขอบคุณ Gunpei Yokoi ที่คิดค้นนวัตกรรมนี้ขึ้นมา

การเรียงปุ่มแนวเฉียงและปุ่ม L R

เชื่อหรือไม่ว่าแค่การเรียงปุ่มกดก็เป็นนวัตกรรมสำคัญได้ โดยในยุคก่อนการเรียงปุ่มจะเป็นแนวนอนแบบง่าย ๆ แต่พอการเล่นเริ่มซับซ้อนมากขึ้นทำให้จำนวนปุ่มมากขึ้นกว่าเดิม แต่หากจะเรียงแนวนอนไปเรื่อย ๆ จะกดยากมากทำให้นินเทนโดได้คิดค้นการเรียงแบบเฉียงบนจอย Super Famicom ที่วางขายในปี 1990 ที่เหมือนเป็นการปฏิวัติการเล่น เพราะเราสามารถกดได้รวดเร็วเช่นการบังคับตัวละครแล้วสามารถกดเข้าเมนูได้ทันที และยังเสริมให้เพิ่มแอ็กชันใหม่เข้าไปเช่นการกระโดดหมุนตัวของมาริโอ และเพิ่มปุ่มให้แนวเกมที่ซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิมเช่นแนวต่อสู้ที่ต้องใช้ปุ่มจำนวนมาก

นอกจากนี้บนจอย Super Famicom ยังเพิ่มปุ่มด้านบนของตัวจอยที่เรียกว่าปุ่ม L และ R เข้ามาเสริมด้วย เพราะทางนินเทนโดคิดว่าปรกติแล้วนิ้วชี้ของเราจะวางตำแหน่งด้านบนของจอยอยู่แล้ว ดังนั้นหากใส่ปุ่มเพิ่มเข้าไปจะสามารถทำให้ผู้เล่นมีทางเลือกในการใช้งานมากขึ้น ถือว่าเป็นไอเดียที่ดีเพราะเชื่อหรือไม่ว่ามันเป็นจุดกำเนิดของปุ่มทริกเกอร์ควบคุมการยิงของจอยในปัจจุบันเลยแน่นอนว่าหลังจากนินเทนโด จัดเรียงปุ่มและเพิ่มของใหม่เข้าไปทำให้หลังจากนั้นทุกค่ายก็ทำตามหมด และการเรียงปุ่มแนวเฉียง 4 ปุ่มและปุ่ม L R ก็กลายเป็นมาตรฐานการสร้างจอยเกมคอนโซลจนถึงทุกวันนี้

แกนแอนะล็อก และปุ่มทริกเกอร์

นวัตกรรมของนินเทนโดยังคงมาต่อเนื่อง ในช่วงกลางยุค 9s0 ที่เกม 3มิติแท้ ๆ เริ่มเป็นที่นิยมทำให้ปู่นินต้องคิดต้นการควบคุมบังคับเพื่อรองรับโลกของเกมที่มีหลายมิติมากขึ้น และทำให้คอนโซล Nintendo 64 (N64) ที่วางขายในปี 1996 มีการใส่แกนแอนะล็อกเข้ามาและยังไม่ธรรมดาเพราะจอย N64 ใส่ไว้ตรงกลางที่จอยเกมมีรูปแบบสามง่ามเหมือนกับหอกกลับหัว ที่ออกแบบมาให้ใช้ได้ทั้งแบบ D-Pad เพื่อเล่นเกม 2D และจับตรงแกนแอนะล็อกเพื่อเล่นเกม 3D ถือว่าเป็นการออกแบบที่ฉลาด และทำให้ผู้สร้างและแฟนเกมปรับตัวเข้าสู่โลก 3มิติได้สมบูรณ์ต่างจากคอนโซลอื่นที่ตอนเปิดตัวยังใช้แต่ปุ่ม D-Pad อย่างเดียวทำให้ควบคุมเกม 3D แท้ ๆ ได้ไม่ถนัดเท่า N64

นอกจากนี้บนจอย Nintendo 64 ยังมาพร้อมกับปุ่ม Z ที่อยู่ด้านหลังที่มีลักษณะเหมือนไกปืน หรือที่ทุกวันนี้จะเป็นปุ่ม L2 R2 บน Playstation หรือ RT หรือ LT บน XBox ที่เหมาะมากสำหรับการใช้เล็งยิง (แม้ PlayStation 1 จะมีปุ่ม L,R มาก่อน แต่ก็ไม่เหมือนปุ่ม Z ของ Nintendo 64) เพราะการจับทำได้ถนัดมือเพราะเหมือนเราได้จับปืนแล้วเล็งยิงจริง ๆ แม้ว่าจะมาเพียงแค่ปุ่มเดียว แต่หลังจากนั้นค่ายเกมอื่นก็เอาไปใช้งานกันถือว่าเป็นสิ่งที่นวัตกรรมสำคัญมาก จริงอยู่ว่ามีหลายค่ายพยายามใช้ปุ่มด้านบนของเครื่องเพิ่มเช่น R2 L2 ของ PS1 ที่ใช้แทนปุ่มเล็งยิงได้แต่หากคุณเคยเป็นเจ้าของ N64 จะรู้ว่านินเทนโดออกแบบปุ่ม Z ออกมาได้ดีงามมากและเกิดมาเพื่อเรียกว่าปุ่มทริกเกอร์อย่างแท้จริง

ระบบจับการเคลื่อนไหว

หากใครจำได้ในปี 2006 ท่ามกลางสงครามคอนโซลที่ตอนแรกแฟนเกมจะโฟกัสไปที่ PS3 กับ Xbox360 ที่มาพร้อมกับกราฟิกระดับ HD ที่สวยงาม แต่นินเทนโดกลับคิดต่างกับการเปิดตัว Wii ที่มีสเปกพอ ๆ กับ PS2 และไม่รองรับกราฟิกแบบ HD แต่มาพร้อมกับลูกเล่นจอยจับการเคลื่อนไหวนาม Wii Mote ที่เป็นไอเดียจากคุณ Satoru Iwata อดีตประธานนินเทนโดผู้ล่วงลับ ที่มีแนวคิดจาก รีโมททีวี มาสู่จอยที่ใช้ระบบโมชันที่มีรูปร่างเป็นแท่ง และมีปุ่มกดเท่าที่จำเป็นเช่น D-Pad หรือปุ่มทริกเกอร์ที่ด้านหลังไว้เล็งยิง นอกจากนี้ยังเสริมด้วยจอย Nunchuk ที่เป็นที่อยู่ของแกนแอนะล็อกที่ก็มีระบบจับการเคลื่อนไหวเช่นกัน

โดยหลังจากวางขายพร้อมกับ Wii Sports ถือว่าสร้างสร้างปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ให้กับวงการเกม เพราะทุกสายตาต่างจับจ้องและสนใจกับการบังคับรูปแบบใหม่ที่ทำให้การเล่นเกมสมจริงไม่ว่าจะเป็นเกมกีฬาที่เหมือนกับว่าเราได้ออกกำลังกายจริง ๆ และยังสามารถใช้ได้กับรูปแบบการเล่นทุกแนว และหลังจากเปิดตัวก็ขายดีแบบถล่มทลายแน่นอนว่าหลังจากนั้นก็มีคนเดินรอยตาม ทั้ง Sony กับจอย PS Move และไมโครซอฟท์ที่แม้ไม่ได้เลียนแบบตรง ๆ แต่ก็ออกตัวกล้อง kinect ที่จับการเคลื่อนไหวผู้เล่นได้ทั้งตัวออกวางขาย ส่วนทุกวันนี้ DNA ของระบบจับการเคลื่อนไหวก็ยังคงอยู่ใน Joy-con ของ Nintendo Switch ส่วนจอย PS Move ก็ยังคงใช้งานร่วมกับแว่น PSVR อยู่เรียกว่าเป็นอีกนวัตกรรมที่เปิดโลกใหม่ให้วงการเกมได้อีกครั้ง

คอนโซลลูกผสม

แน่นอนว่านวัตกรรมล่าสุดของปู่นินที่กำลังขายดีต่อเนื่องตอนนี้คือ Nintendo Switch คอนโซลลูกผสมที่สามารถต่อทีวีได้ และถอดออกไปเป็นเครื่องเกมพกพาได้ด้วย ที่ความจริงอาจจะไม่ใช่ของใหม่แต่การนำเสนอที่เยี่ยมยอด และลูกเล่นที่มากกว่าแค่ต่อทีวีแล้วพกพาไปเล่นนอกบ้าน ทำให้หลังจากเปิดตัววางขายในปี 2017 มันก็ทำยอดขายมากมายจนตอนนี้เกิน 84 ล้านเครื่องไปแล้ว โดยนอกจากการเป็นคอนโซลลูกผสมแล้ว Nintendo Switch ยังมาพร้อมกับการถอดเอาจอยเกมไปเล่นในโหมด แท็บเล็ตแบบวางตั้งโต๊ะได้ด้วย เรียกว่าไม่ต้องมีทีวีและอยากเล่นแบบไหนมันก็ตอบโจทย์หมด

ส่วน Joy-con ก็คือการเอาความดีงามของนินเทนโดในอดีตมารวมกันไม่ว่าจะเป็นแกนแอนะล็อก ปุ่มกดแบบเรียงแนวเฉียง ระบบจับการเคลื่อนไหวก็ใส่เข้ามาขาดแค่ D-pad แต่ก็ชดเชยด้วยการที่เราสามารถใช้ Joy-con แค่ข้างเดียวก็สามารถเล่นเกมได้ ทำให้สามารถถอดเอาอีกอันแบ่งให้เพื่อนเล่นได้

แน่นอนว่าลูกแล่นดีงามและทำยอดขายถล่มทลายทำให้มีหลายค่ายพยายามเลียนแบบ แต่ไม่ได้มาจากคู่แข่งโดยตรงอย่าง Sony และ ไมโครซอฟท์ แต่มาจากหลายผู้ผลิตอุปกรณ์ที่ใช้เล่นเกมบน พีซี เช่นตัวต้นแบบของ Alienware ที่ยังไม่ได้ถูกสร้างออกมาขายจริง หรือสมาร์ตโฟนเองที่มีการออกจอยต่อเสริมที่เหมือนถอดแบบมาจาก Nintendo Switch แบบชัด ๆ ไม่อ้อมค้อม และเชื่อว่าในอนาคตจะมีการสร้างออกมาอีกเพียบ เพราะ Switch ยังคงอยู่ในกระแสแม้ว่ามันจะวางขายมามากกว่า 4 ปีแล้วก็ตาม ถือว่าเป็นอีกหนึ่งสุดนวัตกรรมของปู่นินที่สร้างไว้ให้เป็นแนวทางอีกครั้ง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส