เมื่อพูดถึงตลาดเกมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตั้งแต่อดีตมาจนถึงตอนนี้ เราคงจะคิดถึงประเทศญี่ปุ่นเป็นอันดับต้น ๆ เพราะแม้ประชากรชาวญี่ปุ่นเมื่อเทียบกับประเทศอื่นแล้วอาจจะน้อยกว่ามาก แต่กำลังการบริโภคจับจ่ายของคนในประเทศนี้ก็สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยเฉพาะเรื่องราวของวิดีโอเกมที่ประเทศญี่ปุ่นก็เป็นเบอร์ต้น ๆ ในการผลิตเกมดี ๆ ออกมาสู่ตลาด รวมถึงคนที่ซื้อเกมมาเล่นก็เยอะกว่าหลายประเทศรวมกันเสียอีก จนบางทีเราก็คิดไปเองว่าคนญี่ปุ่นนั้นสามารถเล่นเกมได้ทุกแนวชอบเกมทุกแบบ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เลยเพราะคนญี่ปุ่นเองก็มีการเลือกเล่นเลือกชอบเหมือนเรา และมีหลายเกมที่ตัวเกมมีเนื้อหาระบบการเล่นที่คนญี่ปุ่นหลายคนไม่ชอบ เราจึงไปรวบรวมเกมเหล่านั้นมาให้อ่านกัน โดยอ้างอิงจากบทความของนักเขียนชาวญี่ปุ่นที่รวบรวมเอาไว้ จะมีเกมอะไรที่คนญี่ปุ่นรู้สึกสิ้นหวังตอนเล่นบ้างมาดูพร้อมกันเลย
หมายเหตุ. เนื้อหาในบทความเป็นเพียงความคิดบางส่วนของคนญี่ปุ่น โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน
Sekiro Shadows Die Twice
เริ่มต้นเกมแรกที่ชาวญี่ปุ่นมองว่ามันคือเกมที่เล่นแล้วทำให้รู้สึกสิ้นหวังเป็นอันดับต้น ๆ นั้นคือเกม ‘Sekiro Shadows Die Twice’ เกมแนวแอ็กชันเดินหน้าฆ่าแหลก กับการรับบทเป็นอดีตนินจาไร้นาย ที่มีภารกิจช่วยนายน้อยจากการถูกซามูไรจับไป เพราะเลือดของเด็กชายจะเป็นกุญแจในการสร้างกองทัพอมตะ ซึ่งเราที่เป็นนินจากึ่งซามูไรต้องใช้ทักษะที่มีในการต่อสู้กับศัตรูเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย ซึ่งความสิ้นหวังที่คนเล่นเกมชาวญี่ปุ่นได้รับไม่ใช่เนื้อเรื่องของเกม แต่เป็นระบบของเกมที่ยากจนชนิดที่ว่ามือใหม่หรือคนที่ไม่พร้อมจะไม่สามารถเล่นเกมนี้ได้ เพราะแค่ทหารยามธรรมดาที่เราเจอตัวแรกในเกม ก็สามารถฆ่าเราตายได้ด้วยการฟันไม่กี่ดาบ แถมระบบเกมก็เน้นการป้องกันที่ต้องกดปุ่มให้ตรงจังหวะที่ศัตรูโจมตีมา ซึ่งมันยากถึงยากมาก ๆ พอตายต้องไปเริ่มจากจุดกองไฟล่าสุดที่เราได้ทำไว้ จนหลายคนรู้สึกท้อเพราะขนาดลูกน้องยังยากขนาดนี้หัวหน้าจะยากขนาดไหน ใครที่คิดอยากท้าทายก็ลองดูได้ตัวเกมมีวางจำหน่ายทั้งบน ‘PC’ และ ‘PlayStation 4’
Resident Evil 1 Remake
คำจำกัดความของคนที่ได้ลองเกม ‘Resident Evil 1 Remake’ ครั้งแรกคือ “ความกลัว” เพราะไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่เคยเล่นเกม ‘Resident Evil’ มาแล้วตั้งแต่สมัยเครื่อง ‘PlayStation 1’ หรือเพิ่งเคยเล่นเกมนี้ครั้งแรก ต่างต้องรู้สึกกลัวกับสิ่งที่เห็นในเกมนี้ เพราะทุกอย่างที่เราเคยคิดและกลัวทั้งหมดผู้สร้างได้ใส่อยู่ในเกมนี้ ไม่ว่าจะเป็นที่แคบ ทางเดินที่มีแสงสลัว สถานที่ซึ่งไม่คุ้นเคย มุมกล้องที่ตายตัว ไปจนถึงเสียงที่ร้องมาไกล ๆ ของอะไรก็ไม่รู้ มันคือความรู้สึกกดดันของคนที่ชอบความหลอนสยองขวัญ แต่สำหรับคนที่ไม่ชอบแต่อยากลองเล่นมันคือความท้าทายที่ทำให้หลายคนยอมแพ้กันมาแล้ว เพราะนอกจากความน่ากลัวของฉากกราฟิกแล้ว ระบบการเล่นของเกมก็ค่อนข้างยาก เพราะศัตรูที่เจอนั้นจะอึดถึกตายยาก แถมปริศนาในเกมก็ค่อยข้างซับซ้อน ยิ่งเมื่อคุณไม่มีกระสุนแต่เจอศัตรูตรงหน้ามันยิ่งบีบคั้นคุณจนต้องถามตัวเองว่าเรามานั่งเล่นเกมนี้ให้ตัวเองเครียดไปทำไมเลยทีเดียว และถ้าคุณรอดจากภาคนี้ไปได้เราก็ขอแนะนำความหลอนคูณสองของเกม ‘Resident Evil 0’ ต่อเลย หลังจากนั้นคุณก็จะรู้ตัวเองว่าจะเป็นแฟนเกมนี้ต่อไปหรือจะเลิกเล่นมันตรงนี้ ก็วัดจาก 2 ภาคนี้นั่นเอง
Undertale
เกมที่ดีไม่จำเป็นต้องเป็นเกมที่มีกราฟิกสวย ขอแค่เกมนั้นเล่นสนุกเนื้อเรื่องดีเพียงเท่านี้ก็เป็นเกมที่ยอดเยี่ยมได้ แต่เกมที่ดีที่มาพร้อมกับความยากมันก็ดูไม่ค่อยเข้ากัน นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับเกม ‘Undertale’ เกมแนว RPG ที่เราจะได้รับบทเป็นเด็กน้อยที่หลงมายังโลกใต้ดินที่เต็มไปด้วยปีศาจ ตัวเกมจะไม่เน้นความรุนแรงแต่จะมีเนื้อหาที่ลึกซึ้งกินใจกับระบบการเล่นที่จะไม่ใช่การต่อสู้แต่จะเป็นการแข่ง ‘Mini Game’ แบบต่าง ๆ แทนการต่อสู้ ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ดีแต่มันก็มาพร้อมความยาก โดยชาวญี่ปุ่นท่านหนึ่งบอกว่าเขาใช้เวลาเกือบครึ่งปีเพื่อผ่านบอสตัวสุดท้ายของเกม ซึ่งเขาไม่สามารถรอดจากการโจมตีครั้งสุดท้ายได้ของบอสตัวนี้ไปได้ นี่ยังไม่นับความพยายามในการผ่านเรื่องราวต่าง ๆ ที่ใช้เวลากว่า 3 สัปดาห์กับการแพ้แล้วแพ้อีกเกินกว่า 300 ครั้ง แต่ถ้าถามว่าเกมนี้ดีไหมก็บอกเลยว่าดี แต่ถามว่ายากไหมเพื่อจะไปสู้กับหัวหน้าตัวสุดท้ายของเกมบอกเลยว่ายากสุด ๆ
Ghosts ‘n Goblins
ว่ากันว่าเกมเก่าในอดีตนั้นจะค่อนข้างยากจนถึงยากมาก ๆ ก็เพื่อให้คนเล่นเกมสามารถอยู่กับเกมนั้น ๆ ให้นานที่สุด แต่บ้างครั้งความยากที่มากเกินไปก็ทำให้คนเล่นเกมในยุคนั้นเลิกเล่น นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับเกม ‘Ghosts ‘n Goblins’ หรือเกมที่ชาวญี่ปุ่นรู้จักในชื่อ ‘Makaimura’ เกมแอ็กชันเดินหน้าไปเรื่อย ๆ เพื่อไปช่วยเจ้าหญิงที่ถูกปีศาจจับไป ซึ่งสิ่งที่ทำให้เกม ‘Ghosts ‘n Goblins’ ชวนทำให้ชาวญี่ปุ่นรู้สึกท้อแท้สิ้นหวังตอนเล่นคือตัวระบบเกมที่ควบคุมยาก แถมด้วยระบบการบันทึกเกมในยุคนั้นที่ยังไม่ทันสมัยเท่าตอนนี้ การตายในเกมนี้มันจึงหมายถึงการเริ่มเล่นใหม่ตั้งแต่ต้นฉาก เรียกว่าไม่มีความปราณีต่อผู้เล่นเลยโดยเฉพาะเจ้า ‘Red Arremers’ ศัตรูตัวร้ายที่ไม่ว่าคุณจะเตรียมตัวมาดีขนาดไหนก็เตรียมตัวตายได้เมื่อเจอกับมันในเกม (และเมื่อตายก็ไปเริ่มต้นใหม่) ใครที่สนใจก็ลองไปหามาเล่นดูเพราะตอนนี้ตัวเกมได้ทำฉบับใหม่มาให้เล่นกับเพื่อนได้ด้วย ไม่รู้ว่าจะง่ายขึ้นหรือทำให้ยากขึ้นก็ลองไปหามาเล่นดูได้
(อ่านต่อหน้า 2)
Alien Isolation
ไม่ใช่แค่ชาวญี่ปุ่นแต่เป็นทั่วโลกที่ได้เล่นเกม ‘Alien Isolation’ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเกมนี้ค่อนข้างโหดกับคนเล่น แถมยังพกพาความน่ากลัวหลอนสยองขวัญแบบในภาพยนตร์ยุคปลาย 80s ถึงต้น 90s ได้เป็นอย่างดี แม้เราจะรู้ว่าสิ่งที่ต้องเจอนั้นมันคือตัว ‘Xenomorph’ เอเลี่ยนที่มีเลือดเป็นกรดเพียงตัวเดียว แถมหน้าตาของมันก็ไม่ได้น่ากลัวจนขนหัวลุก แต่ด้วยบรรยากาศของเกมความมืดและความไม่รู้ จึงทำให้เกมนี้ไปติดอันดับเกมที่คนญี่ปุ่นรู้สึกสิ้นหวังตอนเล่น เพราะด้วยระบบ AI ของตัวศัตรูที่มันจะมีความคิดมีชีวิตเป็นเหมือนสัตว์นักล่าที่ไม่ใช่ระบบตายตัวแบบเกมในอดีต เราจึงไม่รู้เลยว่าตอนนี้เจ้าสัตว์ประหลาดนั้นอยู่ตรงไหน และมันจะมาหาเราเมื่อใดที่ไหนก็ได้ในเกม ซึ่งไม่ใช่แต่เจ้าสัตว์ประหลาดเท่านั้นที่เป็นศัตรู แต่เรายังมีพวกหุ่นที่เกิดความผิดพลาดจนมาทำร้ายเรา รวมถึงกลุ่มโจรที่มายึดยานด้วย เรียกว่าทุกอย่างสุ่มรวมมาให้เราเอาชีวิตรอดชนิดที่ไม่ปราณีคนเล่น ที่จนถึงตอนนี้เกมขายไปได้หลักล้านแต่คนที่เล่นเกมนี้จบกลับไม่ถึงแสนคนด้วยซ้ำ เท่านี้ก็เป็นคำตอบแล้วว่าเกมนี้โหดรึไม่
Yu-Gi-Oh! Forbidden Memories
ว่ากันว่าสิ่งที่มนุษย์เราหวาดกลัวมากที่สุดแต่เรากลับคิดถึงมันน้อยที่สุด นั่นคือ “ความไม่รู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า” เหมือนที่เกม ‘Yu-Gi-Oh! Forbidden Memories’ ทำกับผู้เล่น กับสิ่งที่เรียกว่าความไม่รู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นระหว่างเล่นเกม เพราะถ้าใครที่เคยเล่นเกม ‘Yu-Gi-Oh!’ ภาคนี้มาแล้วจะทราบเลยว่าความไม่รู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นมันเป็นได้ทั้งความสนุกและความสิ้นหวังไปพร้อม ๆ กัน โดยเกม ‘Yu-Gi-Oh! Forbidden Memories’ นี้เราจะได้เล่นการ์ด ‘Yu-Gi-Oh!’ เหมือนเกมภาคอื่น ๆ ปกติ แต่ความพิเศษของเกมนี้คือระบบรวมร่างโดยที่ไม่ต้องใช้การ์ดรวมร่าง เพียงแค่เรามีการ์ดตัวละคร 2 ตัวก็สามารถเอามารวมร่างเป็นมอนสเตอร์ตัวใหม่ได้แล้ว ซึ่งเราจะไม่มีทางรู้เลยว่าการ์ดใบนี้จะผสมกับตัวนี้ได้ไหม และถ้าผสมได้จะเป็นมอนสเตอร์ตัวไหนแบบใด นั่นคือสิ่งที่น่าชวนให้สนุกและอยากเลิกเล่น เพราะแฟนเกม ‘Yu-Gi-Oh!’ ต่างพากันสาปส่งเกมนี้เพราะมันทำลายทุกกฎของเกมการ์ดไปจนหมด ยิ่งชาวญี่ปุ่นที่เป็นแฟนการ์ด ‘Yu-Gi-Oh!’ คงไม่แปลกใจที่จะสิ้นหวังกับเกมภาคนี้
Dark Souls Remaster
ต่อเนื่องมาจากเกม ‘Sekiro Shadows Die Twice’ กับความยากที่ชวนสิ้นหวังที่กลับมาอีกครั้งในรูปแบบของการ Remaster ใหม่ในเกม ‘Dark Souls’ เกมที่เสียงแตกออกไป 2 ทางที่บอกว่าเกมนี้จะยากในช่วงแรก ๆ เท่านั้น แต่พอเล่นไปได้ไกล ๆ เกมก็จะง่ายขึ้น กับอีกเสียงที่ร้องโอดครวญว่ามันง่ายตรงไหนมันยากเสมอต้นเสมอปลาย จนทำเอาเล่นไม่จบได้เลยทีเดียว และเสียงเหล่านั้นก็มาจากประเทศญี่ปุ่นที่เป็นต้นกำเนิดเกมยากชวนเลิกเล่นซีรีส์นี้ โดยเฉพาะหัวหน้าประจำด่านอย่าง ‘Ornstein’ และ ‘Smough’ ที่ตัวเดียวก็ยากจนแทบเลิกเล่นอยู่แล้ว แต่ในฉากนี้เราจะต้องสู้กับศัตรูระดับหัวหน้าถึงสองตัวพร้อมกัน แถมหลายครั้งการตายในเกมนี้ก็มาจากความผิดพลาดของคนเล่นเองที่ประมาทเลินเล่อระหว่างเล่น เรียกว่าต้องใช้สมาธิในการเข้าถึงระดับเดียวกับ ‘Sekiro Shadows Die Twice’ เลยทีเดียว ใครมี ‘PlayStation 5’ ก็ไปหามาเล่นดูแล้วคุณจะรู้เลยว่าตัวเองจะไปอยู่ฝั่งไหนของเกมนี้
The Legend of Zelda Majora’s Mask
เครียด กดดัน ลุ้นระทึก รีบเร่ง นั่นคือคำจำกัดความของเกม ‘The Legend of Zelda Majora’s Mask’ เกมภาคต่อระดับตำนานที่นักเล่นเกมฝั่ง ‘Nintendo’ ชื่นชมอย่าง ‘The Legend of Zelda Ocarina of Time’ ที่คราวนี้เรื่องราวจะสานต่อแต่เปลี่ยนแนวมาเป็นการเดินทางย้อนเวลาเพื่อแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้น ก่อนที่พระจันทร์จะพุ่งมาชนโลกในเวลา 3 วัน ซึ่งสิ่งที่ผู้เล่นต้องทำนั่นคือการเร่งรีบแก้ไขปริศนารีบเดินรีบวิ่ง ที่ตัวเกมจะมีนาฬิกาที่คอยกดดันเราตลอดเวลาตอนเล่น แถมการย้อนเวลากลับไปช่วง 3 วันก่อนเกิดเหตุก็จะลดเวลาการย้อนกลับทุกครั้ง นั่นก็หมายความว่าตัวเกมจะมีพื้นที่ในการผิดพลาดน้อยมาก จนคุณจะไม่มีเวลาทำอะไรที่นอกเรื่องเลยแม้แต่อย่างเดียว แถมปริศนาด่านก็ยากและยาวจนชวนให้คนเล่นรู้สึกท้อแท้ แต่ถ้าถามว่าสนุกไหมบอกเลยว่าสนุก ใครมีเครื่อง ‘Nintendo 3DS’ ก็ลองไปหามาเล่นได้ แต่ก่อนจะเล่นภาคนี้ก็ไปเล่นภาค ‘Ocarina of Time’ ก่อนถ้าสนุกถ้าชอบคุณค่อยมาเล่นภาค ‘Majora’s Mask’ เพราะมันไม่ง่ายสำหรับมือใหม่ที่เริ่มครั้งแรกอย่างที่หลายคนคิด
Fatal Frame II Crimson Butterfly
เชื่อว่าหลายคนที่ได้เล่นเกมสาวน้อยถ่ายรูปสู้ผีคงจะรู้จักเกมในซีรีส์นี้ในชื่อ ‘Project Zero’ มากกว่าชื่อ ‘Fatal Frame’ แต่นักเล่นเกมในยุค ‘PlayStation 2’ จะคุ้นกับชื่อภาษาญี่ปุ่นอย่าง ‘Fatal Frame’ มากกว่า โดยเฉพาะภาคที่ 2 ของซีรีส์อย่าง ‘Fatal Frame II Crimson Butterfly’ ก็เป็นภาคที่ดีที่สุดในซีรีส์ที่หลายคนทั้งต่างหลงรักและหวาดกลัวเกมนี้ไปพร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะคนญี่ปุ่นที่หลายคนต่างลงความเห็นว่าเกมนี้เป็นเกมที่น่ากลัวชวนหลอนมาก ๆ เพราะพื้นฐานของผีในเกมนี้ก็มาจากตำนานพื้นบ้านของญี่ปุ่น เหมือนที่เราได้เจอผีไทยในเกม ‘Home Sweet Home’ จึงไม่น่าแปลกอะไรที่คนญี่ปุ่นจะกลัวเกมภาคนี้มากกว่าภาคอื่น ๆ เพราะในภาค ‘Crimson Butterfly’ จะไม่ได้อยู่แค่ในสถานที่ปิดแบบภาคอื่น แต่เกมนี้เราจะได้เดินในหมู่บ้านขนาดใหญ่ที่อิงความจริงและใกล้เคียงกับหมู่บ้านจริง ๆ ในญี่ปุ่น จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าเกมภาคนี้จะทำให้คนญี่ปุ่นหวาดกลัวสิ้นหวังตอนเล่นเกมภาคนี้
The Last of Us Part II
ปิดท้ายกับเกมที่ชาวญี่ปุ่นเล่นแล้วชวนสิ้นหวัง จะเป็นเกมอะไรไปไม่ได้นอกจากเกมที่ทิ้งความหวังของคนเล่นเกมตั้งแต่ต้นเกมกับ ‘The Last of Us Part II’ ที่ในภาคแรกนั้นตัวเกมเต็มอิ่มไปด้วยความหวัง การปกป้อง และความรัก แต่ในภาค 2 ของเกมกลับทำตรงข้ามทุกอย่าง ทั้งการทำลายความฝัน ความหวัง และทำลายสิ่งยึดเหนี่ยวของตัวละครรวมถึงผู้เล่น จนนักเล่นเกมชาวญี่ปุ่นและชาวโลกที่ได้เล่นเกมนี้ต่างคิดเหมือน ๆ กันว่าผู้พัฒนาเกมนี้ใจร้ายมาก ๆ ที่ทำกับคนเล่นเกมและตัวละครในเกมขนาดนี้ ส่วนใครที่ไม่เคยเล่นเกมซีรีส์ ‘The Last of Us’ จะเป็นแนวเอาชีวิตรอดที่เราต้องทำภารกิจในการเดินทางไปที่ต่าง ๆ ในโลกที่เต็มไปด้วยซอมบี้หัวเห็ด และมนุษย์ที่คอยดักปล้นฆ่ากันเอง ใครที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้วไม่เคยเล่นก็แนะนำให้ไปหา ‘The Last of Us’ ภาคแรกมาเล่นก่อน แล้วคุณจะรู้สึกเต็มอิ่มสุขใจกับเกมภาคนี้ และคุณจะรู้สึกสิ้นหวังทันทีเมื่อมาเล่นในภาคที่ 2 ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นคุณจะรู้เลยว่าตัวเองจะยู่ฝั่งไหนของเกม ระหว่างฝ่ายที่เข้าใจตัวละครที่ทำลงไปและให้อภัยกับสิ่งที่เกิดขึ้น หรือรู้สึกเกลียดโกรธแค้นในสิ่งที่เกิดขึ้นและไม่ให้อภัยในสิ่งที่ตัวละครทำ ซึ่งชาวญี่ปุ่นและคนเล่นทั่วโลกส่วนมากก็อยู่ฝ่ายไม่ให้อภัยกัน ตัวเกมภาค 2 มีซับภาษาไทยด้วยสำหรับคนที่ยังไม่ทราบ
ก็จบกันไปแล้วกับ 10 เกมที่ผู้เล่นเกมชาวญี่ปุ่นรู้สึกสิ้นหวังตอนเล่นเกมเหล่านี้ ซึ่งเราต้องขอย้ำอีกครั้งว่าเกมที่เราเอามานำเสนอในบทความนี้ ไม่ใช่แบบสำรวจที่เป็นทางการของชาวญี่ปุ่น แต่เป็นเพียงความเห็นจากชาวญี่ปุ่นที่พูดคุยและแสดงความเห็นออกมา จนเราได้ไปขอหยิบยืมความเห็นและรายชื่อเกมเหล่านั้นมานำเสนอ เพื่อให้หลายคนได้ทราบว่าในประเทศญี่ปุ่นเองก็ใช่ว่าจะเล่นเกมได้ทุกแนวทุกแบบเหมือนในบ้านเรา และนี่ก็คือมุมมองที่เรายังไม่ทราบมาก่อน ถือว่าเป็นการเปิดมุมมองใหม่ก็ได้ ส่วนใครที่อ่านแล้วอยากเล่นเกมไหนในบทความนี้ก็ลองไปจัดกันได้ แล้วคุณจะรู้ว่าทำไมคนญี่ปุ่นเขาถึงรู้สึกสิ้นหวังกับเกมเหล่านี้กัน
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส