มีให้พูดถึงได้เรื่อย ๆ กับความดีงามของเกม ‘Resident Evil 4’ ภาคซึ่งเป็นตำนานที่เปลี่ยนตัวเกมซีรีส์ ‘Resident Evil’ จากที่เคยเดินวนอยู่ที่เดิมกับความสำเร็จเดิม ๆ ของตนเองสู่แนวทางที่แตกต่างและกล้าเปลี่ยน จนมันกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของวงการเกม ที่แม้แต่ตัวต้นฉบับ ‘Resident Evil’ เองยังไม่สามารถลอกเลียนได้ใกล้เคียงความดีงามของภาคที่ 4 นี้ได้ จนเกิดความสงสัยว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เกม ‘Resident Evil 4’ ประสบความสำเร็จ เรามาร่วมกันวิเคราะห์ค้นหาสิ่งที่เปลี่ยนแปลงและเพิ่มเข้ามาในเกมภาคนี้กัน จะมีอะไรที่น่าสนใจบ้างนั้นมาดูไปพร้อมกันเลย
เส้นทางของเกม Survival Horror สู่เกม Action Adventure Survival Horror
เริ่มต้นเรื่องแรกถ้าใครยังจำได้ในวินาทีแรกที่เราเดินเข้ามาในคฤหาสน์ ‘Spencer’ แล้วเจอหมาซอมบี้กระโดดทะลุงกระจกเข้ามาแบบไม่ตั้งตัว ที่เล่นเอาหลายคนหัวใจแทบหยุดเต้น หรือจะเป็นการเอาชีวิตรอดที่กระสุนจำกัดศัตรูเยอะเกินสู้ นั่นคือวิถีของเกม ‘Survival Horror’ ที่ทุกอย่างจำกัดเพื่อกดดันผู้เล่นไม่ให้เก่งจนเกินไปจนเกมขาดความน่ากลัว ซึ่งมันก็คือสิ่งที่ดีงามที่เกมแนวนี้ควรมี แต่ทีมพัฒนา ‘Capcom’ ก็มีความพยายามสร้างเกมแนวใหม่ ที่ให้อิสระกับคนเล่นที่มากขึ้นแต่ยังคงความน่ากลัวอยู่ เพราะ ‘Resident Evil 0’ ที่เป็นภาคล่าสุดของซีรีส์ในตอนนั้นมันขาดความสนุกน่าสนใจจนคนเล่นเริ่มเบื่อ เหมือนตัวเกมจะย่ำอยู่กับที่ ซ้ำร้ายเกม ‘Resident Evil 4’ เองที่กำลังสร้างในตอนนั้นก็ออกมาในแนวทางรูปแบบเดิม
จนมาถึง ฮิเดกิ คามิยะ (Hideki Kamiya) ได้บุกเบิกเส้นทางใหม่ให้กับซีรีส์ ‘Resident Evil’ ด้วยการใส่ความเป็นแอ็กชันลงไปในเกม ให้ตัวละครมีพลังเหนือมนุษย์ด้วยผลของเชื้อไวรัสชนิดใหม่อย่าง ‘Progenitor Virus’ ที่จะต้องต่อสู้กับสิ่งมีชีวิตกลายพันธุ์แบบเกมแอ็กชัน โดยยังคงมีกลิ่นอายคงความเป็น ‘Survival Horror’ อยู่ แต่สุดท้ายเมื่อสร้างไปสร้างมามันยิ่งห่างไกลความเป็น ‘Resident Evil’ จนตัวเกมถูกเปลี่ยนโครงการมาเป็นเกมใหม่ในชื่อ ‘Devil May Cry’ แต่แนวคิดความเป็นแอ็กชันยังน่าสนใจอยู่ จนทาง ชินจิ มิคามิ (Shinji Mikami) นำแนวทางนี้มาสานต่อแต่ลดความเป็นแอ็กชันเหนือมนุษย์มาเป็นระดับที่มนุษย์ทำได้ เกม ‘Resident Evil 4’ แบบแอ็กชันจึงถือกำเนิดขึ้นมา พร้อมกับชื่อแนวใหม่ที่ถูกเรียกว่า ‘Action Adventure Survival Horror’ ที่ให้แอ็กชันและอิสระกับคนเล่นมากขึ้นเพื่อการเอาชีวิตรอดที่ตื่นเต้นกว่าเดิม
ทิ้งระบบ Tank Control สู่มองมอง Over The Shoulder Shot ที่แตกต่างแต่สนุก
ต่อเนื่องจากหัวข้อที่แล้วที่เมื่อมีระบบการเล่นแบบใหม่แล้ว การควบคุมแบบเก่าก็ต้องถูกทิ้งไปจนหมด ทั้งมุมกล้องแบบตายตัวอย่างกล้องวงจรปิด ที่เราสามารถเล็งยิงศัตรูได้ทันทีเมื่อตัวละครเห็นศัตรู หรือคิดว่าตรงนั้นมีศัตรูเราจะยิงได้ทันทีที่เรียกว่า ‘Tank Control’ ที่เป็นการควบคุมที่ไม่อิสระและค่อนข้างยากในเกมแอ็กชัน ซึ่งถ้าใครคิดไม่ออกให้คิดถึงตัวลูกศรด้านบนคือตัวความคุมไปข้างหน้า ถ้าจะเลี้ยวซ้ายขวาตัวละครต้องยืนนิ่ง ๆ จึงสามารถกดซ้ายขวาเพื่อเลือกด้านที่จะไปได้ เหมือนการควบคุมรถถังของเล่นตามชื่อ เปลี่ยนมาเป็นระบบควบคุมแบบใหม่ที่เรียกว่า ‘Over The Shoulder Shot’ หรือแปลแบบตรงตัวว่ามุมมองการยิงข้ามหัวไหล่ ที่เป็นการพัฒนาจากการควบคุมแบบเก่ามาต่อยอด แต่เปลี่ยนแปลงให้เลี้ยวซ้ายขวาได้เร็วขึ้น รวมถึงระบบการเล็งยิงที่เปลี่ยนจากการยิงแบบอัตโนมัติ มาเป็นการเล็งยิงด้วยตัวเองที่เพิ่มความสนุกตื่นเต้น เพราะเราสามารถยิงมือศัตรูเพื่อปลดอาวุธ ยิงขาเพื่อให้ศัตรูเดินช้าลงหรือเสียหลักจนเราโต้กลับได้ ไปจนถึงการยิงหัวศัตรูที่เป็นจุดอ่อนซึ่งถ้าโชคดีก็หัวระเบิดตาย ผ่านการเล็งเป้าที่เป็นเลเซอร์ในการช่วยยิง นอกจากนี้ยังเป็นการต่อยอดไปสู่การต่อสู้กับหัวหน้าที่มีจุดอ่อนให้เราต้องยิงให้ถูก เป็นการสร้างความตื่นเต้นที่มากกว่าเดิมหลายเท่า
End Game Content สู่ความท้าทายและปริศนาที่ถูกเปิดเผย
อีกหนึ่งความดีงามของเกมยุคใหม่มี นั่นคือการพยายามให้คนเล่นเกมอยู่กับเกมตัวเองให้นานที่สุด ซึ่งเกม ‘Resident Evil 4’ ก็ทำสิ่งนั้นกับคนเล่นด้วยการเพิ่ม ‘End Game Content’ สิ่งต่าง ๆ มากมายเมื่อเล่นจบรอบแรก ไม่ว่าจะเป็นชุดของตัวละครที่สามารถเปลี่ยนโหมดการเล่นที่ยากขึ้น หรือบางทีอาจจะง่ายลงแบบกระสุนไม่จำกัดปืนแบบใหม่ แต่สิ่งที่น่าสนใจจริง ๆ ของ ‘End Game Content’ คือโหมดการเล่นใหม่ที่ชื่อ ‘The Mercenaries’ เกมรูปแบบใหม่ที่ให้เราเล่นเป็นตัวละครต่าง ๆ ในเกม เพื่อเอาชีวิตรอดในฉากของเกมไปพร้อมกับการฆ่าศัตรูให้มากที่สุด และเก็บแท่งเวลาเพื่อยืดเวลาเล่นให้นานเล่นเพื่อเก็บคะแนน ที่ยิ่งเราอยู่นานศัตรูก็จะมากขึ้นอึดขึ้นและเก่งขึ้นเป็นการท้าทายตนเอง หรือจะเป็นเนื้อเรื่องเสริมที่ในยุคนี้เรียกว่า ‘DLC’ อย่าง ‘Separate Ways’ ที่จะเล่าเรื่องราวของ เอด้า (Ada) ที่มาในหมู่บ้านพร้อมกับ ลีออน (Leon) แต่เราจะได้เห็นมุมมองเรื่องราวที่ต่างกัน อย่างเช่นตอนนี้ที่ลีออนอยู่ตรงนี้เอด้าอยู่ตรงไหนและเธอไปทำอะไรมาจนมาถึงตรงนี้ นับเป็นการเติมเต็มเนื้อหาที่ขาดไปเป็นอย่างดี หรือจะเป็น ‘Assignment Ada’ ที่เราจะเล่นเป็นเอด้าเพื่อไปเอาไวรัสกลับมาก่อนที่เกาะจะระเบิด ซึ่งใครที่เล่นจบเนื้อเรื่องหลักไปแล้วต้องหามาเล่นซ้ำ ยิ่งใครที่ไม่เคยเล่นภาคนี้มาก่อนซื้อมาทีเดียวเล่นได้ยาว ๆ แน่นอน
ความน่ากลัวแท้จริงที่ Resident Evil 4 จัดให้เรา
คราวนี้มาดูหัวใจหลักของเกม ‘Resident Evil 4’ ที่เป็นจุดขายของเกมภาคนี้ นั่นคือความน่ากลัวของตัวเกม ที่ไม่ใช่แค่ความน่ากลัวของบรรยากาศความมืดหรือซอมบี้ แต่มันคือความน่ากลัวทางด้านจิตใจ ที่ถ้าให้เราอธิบายความน่ากลัวของเกมนี้ก็มีหลายแบบ ซึ่งตัวเกมจะพยายามใส่ความกลัวหลาย ๆ อย่างลงมาเพื่อให้คนเล่นที่เริ่มชินกับความกลัวแบบแรก มาเจอความกลัวแบบใหม่แบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนจบเกม ที่ทางทีมพัฒนาเข้าใจใส่ลงมาเพื่อเขย่าประสาทความรู้สึกคนเล่นได้อย่างยอดเยี่ยม โดยเราสามารถแยกความกลัวที่เกมจัดมาให้เราหลัก ๆ 5 แบบดังนี้
1 ความน่ากลัวของการดิ้นรนเอาชีวิตรอด
เริ่มต้นความกลัวแรกที่เราได้รับเมื่อเปิดเกมเข้ามา นั่นคือชาวบ้านที่ติดเชื้อปรสิต ‘Ganados’ ที่มีความคิด พวกนี้ไม่ใช่ซอมบี้ศพเดินได้แบบภาคเก่า แต่คือคนธรรมดาที่ใช้ชีวิตประจำวันเหมือนคนทั่วไป แต่เมื่อพวกนั้นเห็นเราชาวบ้านเหล่านั้นจะถืออาวุธมาทำร้ายทันที เหมือนสัญชาตญาณสัตว์ที่ห่วงถิ่นของตนเอง ที่ไม่ว่าเราจะวิ่งหนีไปทางไหนมันก็จะมารุมเราทุกทิศทุกทาง แถมยังสามารถสื่อสารเรียกพวกได้ด้วย และไม่ทันที่เราจะหายกลัวเกมก็จัดมนุษย์เลื่อยเข้ามา เพื่อกระตุ้นความกลัวเราให้สูงขึ้นไปอีกหลายเท่า จนเราต้องดิ้นรนเอาชีวิตกว่าเดิม ทั้งการวิ่งหนีกระโดดหน้าต่างยิงปาระเบิด ทำทุกทางเพื่อมีชีวิตรอดให้ได้นานที่สุด ซึ่งตอนที่เราเล่นเกมนี้ครั้งแรกเราไม่รู้เลยว่ามันจะจบลงตรงไหน จนเส้นประสาทความกลัวของคนเล่นในตอนนั้นถึงขีดสุด เสียงระฆังของหมู่บ้านดังขึ้นพร้อมการหยุดโจมตีของชาวบ้าน ซึ่งเมื่อมาถึงขีดสุดของการเอาตัวรอดเกมก็จะหยุดเราลงตรงนั้น และให้เราได้พักเพราะการใส่ความกลัวต่อเนื่องไป จะเป็นการกดดันคนเล่นจนสุดท้ายคนจะเลิกเล่นเพราะทนความกดดันไม่ไหว แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่การพักก่อนที่เกมพาเราไปสู่ความน่ากลัวต่อไป ซึ่งสิ่งนี้ก็ถูกเอามาใช้อีกครั้งใน ‘Resident Evil Village’ ในช่วงต้นเกม ซึ่งถ้าใครเล่นในโหมดยากจะรู้ซึ้งถึงความยาวนานว่าเมื่อไหร่มันจะจบลงเลยทีเดียว
2 ความกดดันกับการรัวปุ่ม Quick Time Event
คุณยังจำการรัวปุ่มวิ่งหนีก้อนหินหล่นทับใน ‘Quick Time Event’ แรกได้ไหม ที่มันเกิดขึ้นเร็วมาก ๆ แบบไม่ทันตั้งตัว ที่จู่ ๆ ก็มีก้อนหินยักษ์หล่นลงมาจนลีออนต้องวิ่งหนี พร้อมการกดปุ่มรั่ว ๆ ซึ่งความน่ากลัวของสิ่งนี้คือเราไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นตอนไหน แม้แต่ตอนที่เราไม่ทันระวังตัวอย่างเดิน ๆ อยู่ก็อาจจะมี ‘Quick Time Event’ เกิดขึ้น หรือตอนสู้กับศัตรูก็สามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งตัวเกมจะพยายามใส่มาเพื่อกดดันเราเรื่อย ๆ จนเมื่อเราเริ่มชินกับระบบนี้ตัวเกมก็ใส่ระบบ ‘Quick Time Event’ แบบต่อเนื่องในการต่อสู้กับ แจ็ก เคราเซอร์ (Jack Krauser) ที่เป็น ‘Quick Time Event’ สุดโหด ที่เราห้ามกระพริบตาตอนเล่นช่วงนั้นเลยทีเดียว จนคนเล่นอย่างเรารู้สึกกดดันไม่ต่างกับลีออนในเกมเลยทีเดียว
3 ความกลัวจากการปกป้อง
หลังจากที่คนเล่นเริ่มชินกับการเอาชีวิตรอดคนเดียวแล้ว ตัวเกมก็ใส่ความน่ากลัวอีกแบบตามมา นั่นคือการปกป้องคนที่ไม่มีทางสู้อย่าง แอชลีย์ แกรแฮม (Ashley Graham) ลูกสาวของประธานาธิบดีที่ถูกลักพาตัว ซึ่งหลายคนมองว่าเธอนั้นคือตัวถ่วงน่ารำคาญเอาแต่ร้องขอความช่วยเหลือ ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ทางทีมพัฒนาเกมต้องการให้เรารู้สึกแบบนั้น เพราะเมื่อใดที่แอชลีย์ถูกจับเข้าประตูไป หรือเธอเสียชีวิตเกมจะจบลงทันที นั่นคือสิ่งที่เรียกว่าความกลัวในการปกป้อง เพราะในเกมเราต้องสู้เพื่อปกป้องตัวเองไปพร้อมกับการปกป้องคุณหนูไร้ทางสู้ ที่สามารถตายได้ทุกเมื่อที่เราพลาด นับเป็นความกดดันที่มาพร้อมความกลัวที่เกมเข้าใจใส่ลงมาตลอดทั้งเกม และจะมาเป็นช่วง ๆ โดยการเพิ่มความยากและกดดันให้มากขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มจากการปกป้องเธอจากชาวบ้านที่ไล่ฆ่า มาเป็นเหล่านักบวชกับสถานที่แคบศัตรูเยอะขึ้น จนมาถึงช่วงที่สามที่เป็นเหล่าทหารที่มีอาวุธครบมือ พร้อมทางที่แคบและเหล่าสัตว์ประหลาดสุดโหด ที่สามารถฆ่าลีออนกับแอชลี่ย์ได้ในการโจมตีเพียงครั้งเดียว และถึงเราจะไม่ชอบเธอคนนี้ขนาดไหน แต่เราก็ต้องยอมรับว่าการสู้ไปปกป้องแอชลี่ย์ไป มันคือหนึ่งในความสนุกกดดันที่ดีงาม กว่าระบบคู่หูที่ช่วยสู้ได้อย่าง เชวา อโลมาร์ (Sheva Alomar) ในภาค 5 หรือสองสาวคู่หูในภาค ‘Revelations 2’ ที่เป็นเหมือนผู้ช่วยมากกว่าคนที่เราต้องปกป้อง ซึ่งให้อารมณ์กดดันต่างกัน โดยที่เกมทั้งสองภาคที่เรายกมาไม่มีในจุดนี้
4 การต่อสู้กับสัตว์ประหลาดที่น่ากลัว
อย่างที่เราบอกไปในหัวข้อตอนต้น กับการเปลี่ยนระบบเล็งยิงแบบใหม่ ที่สามารถเลือกจุดยิงเพื่อเพิ่มพลังทำลายศัตรูได้ ซึ่งในเกม ‘Resident Evil’ ภาคก่อนเมื่อเราเจอศัตรูระดับหัวหน้า สิ่งที่เราต้องทำคือการเลือกปืนแรงที่สุดอัดใส่มัน พร้อมกับการวิ่งไปรอบ ๆ เพื่อหลบการโจมตีศัตรู ทำแบบนี้เรื่อย ๆ จนสามารถเอาชนะศัตรูได้ แต่ในเกม ‘Resident Evil 4’ จะการยิงมั่วไม่ตรงจุดอ่อนมันคือหายนะของคนเล่น เพราะศัตรูระดับหัวหน้าหรือศัตรูบางตัวนั้นจะมีจุดอ่อนเพื่อฆ่ามัน ดังนั้นต่อให้คุณมีปืนแรงขนาดไหนแต่ถ้ายิงไม่ตรงจุด ศัตรูก็ยังคงยิ้มฟันขาววิ่งมากัดหัวเราได้อยู่ดี ตรงข้ามถ้าเรายิงจุดอ่อนศัตรูได้แม้แต่ปืนหรือมีดพกที่มีพลังทำลายไม่มาก ก็สามารถสร้างความเสียหายให้ศัตรูได้ แต่ก็อย่าลืมว่าศัตรูมันจะโชว์จุดอ่อนหรือยืนนิ่ง ๆ ให้เรายิง แต่มันจะพยายามฆ่าเราทุกวิธีเหมือนกัน มันจึงเป็นความท้าทายกดดันและกลัวไปพร้อม ๆ กัน ยังไม่หมดเมื่อคุณเริ่มชินกับการสู้โดยการยิงจุดอ่อนศัตรูแล้ว เกมก็จัดศัตรูที่แกร่งไร้จุดอ่อน หรือซ่อนจุดอ่อนที่ต้องใช้อุปกรณ์พิเศษในการกำจัดมันเพิ่มมาอีก เรียกว่าจัดหนักจัดเต็มเพื่อการกดดันเราอย่างต่อเนื่องจริง ๆ
5 ความกลัวกับการไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป
รู้รึไม่ว่าหนึ่งสิ่งที่มนุษย์ทุกคนหวาดกลัวมาที่สุด แต่ไม่รู้ว่าตัวเองกลัวนั่นคือ “ความไม่รู้” ซึ่งนั่นคือสิ่งที่เกมภาพยนตร์แนวสยองขวัญรู้ และใส่ลงไปในสื่อของตนเองเพื่อให้คนดูหรือเล่นหวาดกลัวกับความไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ซึ่งในเกม ‘Resident Evil 4’ ก็ทำแบบนั้นกับคนเล่น เพราะถ้าคุณยังจำความรู้สึกตอนเล่นเกมนี้ครั้งแรกได้ ว่าคุณไม่รู้เลยว่าข้างหน้าจะเกิดอะไร คุณจะรู้สึกระแวงกลัวและตื่นเต้นทุกครั้งที่เมื่อมาถึงฉากใหม่สถานที่ใหม่ แบบผ่านจุดนี้ไปจะเจอกกับอะไร ซึ่งสิ่งที่ ‘Resident Evil 4’ ทำกับคนเล่นคือยัดความน่ากลัวผสมกับความไม่รู้เดาทางไม่ถูกลงไป อย่างเช่นห้องนี้เข้ามาคุณจะเจอเพดานหล่นทับ มาอีกห้องเจอกรงขังพร้อมสัตว์ประหลาด ไปอีกห้องเจอห้องว่าง ๆ ไม่มีอะไร แต่อีกห้องเจอศัตรูมารุมทุกทิศ หรืออีกห้องก็เจอชุดเกราะเดินเอามีดมาฟันเรา และเมื่อคุณเริ่มชินกับกับดักเหล่านี้ตัวเกมก็เพิ่มศัตรูในฉากแบบนี้เป็นสองเท่า หรือลดขนาดฉากเปลี่ยนศัตรูที่แข็งแกร่งลงมาเพื่อกดดันเรา ให้รู้สึกหวาดกลัวที่เหมือนเป็นความท้าทายคนเล่นตลอดทั้งเกม นั่นคือการหยิบยกความน่ากลัวของความไม่รู้มาใส่ได้อย่างลงตัว
สำหรับคนที่ยังไม่เคยเล่น Resident Evil 4
ปิดท้ายกับคนที่อ่านมาถึงตรงนี้แต่คุณยังไม่เคยเล่น ‘Resident Evil 4’ ก็อยากให้หามาเล่นดู ตัวเกมสามารถหาเล่นได้แทบทุกเครื่องในตลาดตอนนี้ แถมราคาไม่แพงเล่นแล้วคุณจะรู้ว่าทำไมแฟน ‘Resident Evil’ ถึงยกย่องให้ ‘Resident Evil 4’ คือเกมที่ดีที่สุดในซีรีส์ เพราะมันไม่ใช่แค่เกมเดินยิงคนติดเชื้อหนีสัตว์ประหลาดแบบภาคอื่น ๆ แต่มันคือการยัดใส่ความกลัวที่ลงตัว ไม่มากไปไม่น้อยไปแถมเกมก็ยังไม่โหดร้ายกับคนเล่น เพราะระบบจะค่อย ๆ ใส่สิ่งต่าง ๆ เพื่อสอนเราให้ชิน ก่อนจะเพิ่มความยากไปเรื่อย ๆ แม้แต่มือใหม่ก็สามารถเล่นได้ และไม่ต้องกลัวกระสุนหมด เพราะตัวเกมมีระบบ ‘Difficulty Scale’ ที่เมื่อเรากระสุนยาเหลือน้อย เกมจะให้กระสุนกับยาเรามาทันที เพื่อให้คุณสนุกกับการเอาตัวรอดได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนคนที่เล่นไปแล้วก็สามารถกลับมาเล่นใหม่กับความยากที่สูงขึ้น แล้วคุณจะรู้ว่าการดิ้นรนที่เราอธิบายไปทั้งหมดคืออะไร
ก็จบกันไปแล้วกับเรื่องราวความดีงาม และการอธิบายถึงความกลัวที่เกม ‘Resident Evil 4’ ทำกับคนเล่นเกม ที่ดูผ่าน ๆ ก็เหมือนตัวเกมใส่ทุกอย่างเพื่อให้เราสนุก แต่เมื่อมองลึกลงไปในรายละเอียด เราจะเห็นความตั้งใจของทีมพัฒนาที่เข้าใจใส่ทุกรายละเอียดความกลัวกดดันลงไป เพื่อให้คนเล่นรู้สึกสนุกไปพร้อมกับความกลัว ซึ่งกว่าที่ ‘Resident Evil’ จะเข้าในจุดนี้ก็ต้องใช้เวลาลองผิดลองถูกมาหลายปี จนเรามาเห็นสิ่งเหล่านี้อีกครั้งใน ‘Resident Evil Village’ ที่สานต่อจิตวิญญาณทุกอย่างจาก ‘Resident Evil 4’ มาได้อย่างครบถ้วนไม่ขาดตก ใครที่ยังไม่เคยเล่นก็ขอแนะนำให้ลองหามาเล่นดู ของดีระดับตำนานขนาดนี้ไม่อยากให้พลาดกัน
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส